สธ.18ก.ย.-อธิบดีกรมการแพทย์ แถลงรายละเอียดชายล่ามซาอุฯ เสียชีวิตคลุมเครือโควิดเหตุตรวจไม่เจอเชื้อ 2 ครั้ง แต่ระบาดวิทยานับว่าตายโควิด เพราะปอดอักเสบเสียหนัก ย้ายมาไทยไม่ได้ยาโควิด แต่ทรุด ปอดติดเชื้อแบคมีเรียดื้อยา ถือเป็นผู้เสียชีวิตโควิด รายที่ 59
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผอ.กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค และ นพ.พจน์ อินทลาภาพร อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวชี้แจงกรณีการเสียชีวิตของล่ามซาอุดีอาระเบียติดเชื้อโควิด-19 ว่า ทราบชื่อผู้เสียชีวิตคนนี้ อายุ 54 ปี เสียชีวิตที่โรงพยาบาลราชวิถี โดยมีอาชีพล่ามที่ทำงานที่กรุงริยาด ซาอุดีอาระเบีย ทำงานอยู่ต่างประเทศมาเป็น 10ปี เริ่มป่วยตั้งแต่กรกฎาคม ตรวจเจอเชื้อโควิด วันที่ 21 กรกฎาคม แต่ยังไม่ได้นอนโรงพยาบาล นอนรักษาตัวอยู่ที่บ้าน 26 กรกฎาคม อาการมากขึ้นไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลคิงค์ ฟาฮัด ห่างจากการตรวจเจอเชื้อครั้งแรก หลายวันอยู่ และต่อมาย้ายไปรักษาห้องไอซียู และใส่ท่อช่วยหายใจ และ ต้องปั๊มหัวใจร่วมด้วย
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ผลการตรวจหาเชื้อรวม 4 ครั้งที่ซาอุดีอาระเบียในวันที่ 21 กรกฎาคม, 5 สิงหาคมผลเป็นบวก ส่วนในวันที่ 25 สิงหาคม ,30 สิงหาคม ผลการตรวจเชื้อเป็นลบไม่พบเชื้อโควิดแล้ว แต่ทางญาติต้องการให้ผู้ป่วยเดินทางกลับไทย จึงประสานให้เดินทางด้วยเครื่องบินพยาบาลเดินทางเมื่อวันที่ 1 กันยายน ถึงไทยเวลา 01.30 น.ของวันที่ 2 กันยายน และเมื่อวันที่ 3 กันยายน อาการแย่ลงต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ทำการเพาะเชื้อแบคทีเรีย พบปอดอักเสบรุนแรง และมีการติดเชื้อ ต้องให้ยาฆ่าเชื้อทางหลอดเลือดดำ เพราะเกิดเชื้อดื้อยา โดยนอนรักษาตัวมา ตั้งแต่ 3-18 กันยายน
นพ.พจน์ กล่าวว่า เมื่อรักษาตัวที่โรงพยาบาลในวันที่ 2 กันยายน พบมีอาการปอดอักเสบ แม้ว่าอาการจะดีขึ้นตามลำดับจากการติดเชื้อโควิด แต่ผลพวงจากโควิด ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของปอดไม่เต็มที่ ปอดด้านขวามีเงาทึบ เพราะตามปกติของโรคโควิดแม้หายแล้ว แต่ปอดจะเกิดพังผืด ทำให้หายใจลำบาก ประกอบกับปอดมีการอักเสบและดื้อยา ทำให้การหายใจลำบาก รักษาไม่ถึง 10 ชั่วโมง ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ และพบว่า มีการแทรกซ้อนของเชื้อแบคทีเรียดื้อยา ส่วนหัวใจก่อนเดินทางเข้าไทย หัวใจหยุดเต้น ปั๊มหัวใจมาก่อนแล้ว มีผลให้กล้ามเนื้อหัวใจมีการบาดเจ็บ มีความเสี่ยง หัวใจทำงานผิดปกติหยุดเต้น ผู้ป่วยมีคลื่นหัวใจผิดปกติต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ผู้ป่วยมีโรคประจำตัว เบาหวาน ความดันโลหิต น้ำตาลไม่คงที่ 100-140 ทำให้มีความยุ่งยากในการควบคุมน้ำตาลในเลือดส่งผลต่อการดูแลรักษา บวกกับเชื้อแบคทีเรียดื้อยา ทำให้การรักษายุ่งยากมากขึ้น แพทย์ได้ให้ยาปฏิชีวนะ 3 ชนิด แต่ในสภาพปอดอักเสบรุนแรง ทำให้อาการโดยรวมทรุดลงอย่างต่อเนื่อง มีภาวะไตวายติดเชื้อร่วมด้วย ปัจจัยยหลายอย่างประกอบกันจึงทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต
นพ.โสภณ กล่าวว่า ผู้ป่วยรายนี้มีการติดเชื้อจากต่างประเทศ นับเป็นผู้ป่วย ลำดับ 3430 ติดเชื้อที่ซาอุดีอาระเบีย กระบวนการนำผู้ป่วยกลับไทย 1-2 กันยายน เดินทางด้วยเครื่องบินพยายามป้องกันการติดเชื้อ ส่งเสร็จกลับเลย ภายใต้การดูแลที่เป็นมาตรฐาน ไม่พบว่ามี คนที่เกี่ยวข้องติดเชื้อเพิ่มเติม อีกทั้งมีการรักษาต่อเนื่องแม้ย้ายประเทศและโรงพยาบาล แต่ระยะเวลาการรักษารวม 54 วัน และถือว่าเสียชีวิตในไทย
ทั้งนี้ เตรียมนำสาเหตุการเสียชีวิตและการรักษาเข้าคณะกรรมการวิชาการ พิจารณาว่าเคสนี้จะเสียชีวิตเพราะโควิดหรือไม่ และเป็นรายที่ 59 หรือไม่ เพราะการตรวจไม่เจอเชื้อก่อนมาไทยถึง 2 ครั้ง แต่เนื่องจากเบื้องต้นใน ทางระบาดวิทยา แบ่งกลุ่ม การรักษาออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.อยู่ระหว่างการรักษา 2.รักษาและหายออกจากโรงพยาบาล และรักษาและเสียชีวิต แต่ผู้ป่วยคนนี้ถือว่าอยู่ในกลุ่มรักษาต่อเนื่อง จึงว่าเสียชีวิตเพราะโควิด แม้ไม่พบเชื้อในร่างกายก็ตาม และถือว่าเป็นผู้เสียชีวิตในไทยรายที่ 59 แม้สาเหตุของการเสียชีวิตหลักมาจากปอดอักเสบดื้อยา .-สำนักข่าวไทย