7 พ.ค. – บอร์ด สปสช.เห็นชอบเพิ่มทางเลือกการรักษา ผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษรุนแรง ด้วยวิธีกรองพลาสมา ทางเลือกสำหรับผู้ป่วยกลุ่มที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา มอบ สปสช.ประสานสมาคมต่อมไร้ท่อแห่งประเทศไทย จัดทำแนวทางปฏิบัติ และกระทรวงสาธารณสุข เตรียมพร้อมให้บริการ
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
พร้อมเปิดเผยว่า บอร์ด สปสช.เห็นชอบสิทธิประโยชน์การรักษาคนไข้ต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป ที่มีภาวะไทรอยด์เป็นพิษรุนแรง และไม่ตอบสองต่อการใช้ยารักษา โดยให้รักษาด้วยวิธีการกรองพลาสมา และให้เริ่มดำเนินการได้ในปีงบประมาณ 68 โดยเบิกจ่ายจากงบผู้ป่วยใน เนื่องจากไม่มีผลต่อภาระงบประมาณ พร้อมให้ สปสช.ประสานสมาคมต่อมไร้ท่อแห่งประเทศไทย เรื่องแนวทางการรักษาด้วยวิธีกรองพลาสมา และประสานกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเตรียมความพร้อมในการให้บริการ
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาฯ สปสช. กล่าวว่า ข้อเสนอสิทธิประโยชน์นี้ ทางสมาคมต่อมไร้ท่อได้เสนอขึ้นมา เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ป่วย ซึ่ง สปสช.ได้นำเข้าสู่โครงการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ ยูซีบีพี จากข้อมูล ปี 67 มีผู้ป่วยต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไปจำนวน 33,319 คน มีเพียง 33 คน ที่ต้องรักษาด้วยการกรองพลาสมา และในจำนวนผู้ป่วยภาวะไทรอยด์เป็นพิษรุนแรง 1,719 คน มี 20 คน ที่ต้องรักษาด้วยวิธีนี้ ดังนั้นการรักษาด้วยวิธีการกรองพลาสมา จะใช้ใน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มไทรอยด์เป็นพิษรุนแรง มีข้อห้ามในการใช้ยา ไม่ตอบสนองต่อการใช้ยา และเพื่อเตรียมความพร้อมผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษรุนแรง ก่อนการผ่าตัด โดยค่ารักษาเฉลี่ยรายละประมาณ 25,000 บาท ในปี 68 คาดจะรักษาได้ประมาณ 70 ราย ส่วนในปี 69 จะรักษาได้ที่ 170 ราย. -414-สำนักข่าวไทย