บนสื่อสังคมออนไลน์แชร์เตือนว่า การดื่มกาแฟส้มทุกเช้า อาจทำให้เสี่ยงเป็นไขมันพอกตับได้โดยไม่รู้ตัว ?
🎯 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ ดร.วนะพร ทองโฉม นักสุขศึกษา (นักกำหนดอาหารวิชาชีพ) งานสร้างเสริมสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
เรื่อง “ดื่มกาแฟส้มเป็นประจำ เสี่ยงไขมันพอกตับ” มีส่วนจริง
ไขมันพอกตับเกิดจากร่างกายได้รับพลังงานจากอาหารที่มากเกินไป และเปลี่ยนเป็นไขมันสะสมในตับ
ไม่ว่าจะเป็นกาแฟส้มหรือเครื่องดื่มชนิดอื่น ๆ ที่มีน้ำตาลปริมาณมากก็เป็นเหตุทำให้มีไขมันพอกตับที่มากขึ้นได้
“กาแฟส้มเสี่ยงไขมันพอกตับ” สาเหตุไม่ได้เกี่ยวกับกาแฟที่ใส่
“กาแฟ” ไม่ได้มีส่วนทำให้ไขมันพอกตับ องค์ประกอบที่ใส่ในกาแฟส้มต่างหาก ไม่ว่าจะเป็นน้ำตาล น้ำผลไม้ หรือน้ำหวานต่าง ๆ ที่อาจจะก่อให้เกิดไขมันพอกตับและตับอักเสบขึ้นได้
องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้บริโภคน้ำตาลไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา หรือประมาณ 24 กรัม เท่านั้น
“น้ำตาล” เป็นคาร์โบไฮเดรตชนิดหนึ่งที่ให้พลังงานแก่ร่างกาย โดยน้ำตาล 1 กรัม ให้พลังงาน 4 กิโลแคลอรี แต่คนไทยบริโภคน้ำตาลสูงถึง 25 ช้อนชาต่อวัน (ประมาณ 100 กรัมต่อวัน)
โดยเฉลี่ยแล้ว น้ำหวาน 1 แก้ว ที่ดื่มกันบ่อย ๆ มีน้ำตาลมากกว่า 6 ช้อนชา
ดังนั้น ถ้าต้องการดื่มก็ควรสั่ง “หวานน้อย” และ/หรือ ไม่ควรเกิน 2 ช้อนชาต่อ 1 แก้ว
หลีกเลี่ยงน้ำตาล ใช้น้ำตาลเทียมและสารให้ความหวาน ช่วยได้หรือไม่ ?
มีการศึกษาเรื่อง “น้ำตาลเทียม” และ “สารให้ความหวานที่ไม่ได้ให้พลังงาน” พบว่า มีความสัมพันธ์กับการอักเสบที่ตับได้
ดังนั้น การได้รับน้ำตาลเทียมมากเกินไป ถึงแม้ว่าพลังงานจะน้อยก็ตาม แต่ก็เกิดการอักเสบที่ตับได้ รวมถึงไปก่อกวนจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหารที่ดี และการเสียสมดุลของแบคทีเรียในระบบทางเดินอาหารจากน้ำตาลเทียม
จำเป็นต้อง “เลิกดื่ม” กาแฟส้ม หรือไม่ ?
ถ้าตัดได้ “การเลิกดื่มกาแฟส้ม” จะส่งผลดีต่อสุขภาพ เพราะว่าเป็นการตัดโอกาสที่จะได้รับน้ำตาลมากเกินไป
การดื่มกาแฟไม่มีน้ำตาลเป็นสิ่งที่ดี คอกาแฟมีทางเลือกหลายทาง แต่ถ้ายังติดกาแฟส้ม ก็ควรสั่งแบบไม่ต้องใส่ไซรัป (Syrup) เพิ่มอีก และรวมถึงการปรับเปลี่ยนชนิดของอาหารเพื่อจะได้ไม่ต้องรับน้ำตาลเพิ่ม
ถ้าดื่มกาแฟส้มในวันนั้นแล้ว โควตาน้ำตาลเต็มแล้ว มื้ออื่น ๆ อาจจะต้องหลีกเลี่ยงอาหารที่เป็นแหล่งน้ำตาลจะได้ไม่เป็นการเพิ่มน้ำตาลเข้าสู่ร่างกาย
ดังนั้น ใครมีไขมันพอกตับอยู่แล้ว สิ่งที่ควรปฏิบัติทันทีก็คือ
1. ถ้ามีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ (อ้วน) จะต้องลดน้ำหนักทันที
2. กินน้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อนชา ใครกินน้อยกว่าได้ยิ่งดี เป็นการลดและตัดปัจจัยเสี่ยง
3. ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์เป็นเครื่องดื่มชนิดหนึ่งที่มุ่งตรงไปสะสมเป็นไขมันที่ตับ
4. การออกกำลังกาย ในคนที่มีน้ำหนักตัวมากเกินเกณฑ์หรืออ้วน ถ้าปรับเรื่องการกินอาหารอย่างเดียวจะทำได้ระยะหนึ่ง แต่ถ้ามีการออกกำลังกายร่วมด้วยจะช่วยลดน้ำหนัก เมื่อน้ำหนักลดลง ไขมันพอกตับก็จะลดลงได้ด้วยเช่นกัน
เรื่องดื่มกาแฟส้มเสี่ยงไขมันพอกตับสามารถแชร์ต่อได้ และอย่าลืมระมัดระวังเครื่องดื่มชนิดอื่นที่มีน้ำตาลมากเช่นเดียวกัน เพราะเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมากไม่ได้มีเฉพาะกาแฟส้มเท่านั้น
🎯 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ นายแพทย์อัครวิทย์ พูลสมบัติ อาจารย์ประจำสาขาวิชาโรคทางเดินอาหารและตับ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
เรื่องที่แชร์กันว่า “ดื่มกาแฟส้มเป็นประจำ เสี่ยงไขมันพอกตับ” เป็นเรื่องจริง เพราะในน้ำส้มมีน้ำตาลฟรักโทส (Fructose) มาก การดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลปริมาณมาก คือการเพิ่มโอกาสไขมันพอกตับมากขึ้น
ไม่ใช่เฉพาะ “กาแฟส้ม” ที่เสี่ยงไขมันพอกตับได้ ยังมีเครื่องดื่มอีกหลายชนิดที่มีส่วนผสมของน้ำตาลมาก ก็จะมีความเสี่ยงได้รับ “น้ำตาลมากเกิน” ส่งผลให้เกิดภาวะอ้วนลงพุงมากขึ้นและตามมาด้วยไขมันพอกตับ
รู้จักอันตรายจาก “ไขมันพอกตับ”
ภาวะไขมันพอกตับ (Fatty Liver) หมายถึง ภาวะที่มีการสะสมของไขมัน (ในรูปของ Triglyceride) ในเซลล์ตับ
ไขมันพอกตับเป็นสาเหตุของ “โรคตับแข็ง” (Liver Cirrhosis) และมีโอกาสเป็น “มะเร็งตับ” (Liver Cancer) ได้
โรคตับแข็งเป็นผลมาจากเนื้อเยื่อตับถูกทำลายจากหลายสาเหตุต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ทำให้เกิดตับอักเสบเรื้อรัง เกิดพังผืดในเนื้อตับ ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมจะกลายเป็นตับแข็งในที่สุด
ดังนั้น การรักษาไขมันพอกตับ เพื่อ “ป้องกัน” ไม่ให้เกิดตับแข็งและมะเร็งตับ
ดื่มกาแฟไม่ใส่น้ำตาล ลดไขมันพอกตับได้ จริงหรือ ?
มีข้อมูลเรื่องกาแฟกับไขมันพอกตับระบุไว้ว่า การดื่มกาแฟ (ที่ไม่ใส่น้ำตาล) อย่างน้อยวันละ 8 แก้วขึ้นไป สามารถแก้ปัญหาไขมันพอกตับได้
การดื่มกาแฟปริมาณมาก (8 แก้วต่อวัน) อายุรแพทย์ระบบทางเดินอาหารและตับไม่แนะนำให้ดื่มกาแฟปริมาณมากเพื่อหวังลดปัญหาไขมันพอกตับ
การแก้ไขปัญหาไขมันพอกตับที่ได้ผลดี ปลอดภัย และยั่งยืน ก็คือการออกกำลังกายสม่ำเสมอ และมีพฤติกรรมสุขภาพในชีวิตประจำวันที่เหมาะสม เป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาไขมันพอกตับที่ได้ผลดี
ส่วนเรื่อง “กาแฟส้ม” ก็ไม่ได้ห้ามดื่ม ใครต้องการดื่มก็ได้ แต่ต้องไม่ดื่มมากเกินไป ซึ่งรวมถึงน้ำหวานชนิดอื่นทั้งหลายด้วย เพราะตราบใดที่ดื่มน้ำหวานมากก็จะทำให้เกิดภาวะอ้วนลงพุงมากขึ้น ไขมันพอกตับก็จะตามมาเช่นเดียวกัน
เรื่อง “กาแฟส้มเสี่ยงไขมันพอกตับ” แชร์ได้ เพราะกาแฟที่มีส่วนผสมของน้ำตาลปริมาณมาก ทำให้มีความเสี่ยงไขมันพอกตับโดยไม่รู้ตัว
สัมภาษณ์โดย พีรพล อนุตรโสตถิ์
เขียนและเรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ดูเพิ่มเติมรายการ ชัวร์ก่อนแชร์ : ดื่มกาแฟส้มเป็นประจำ เสี่ยงไขมันพอกตับ จริงหรือ ?
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter