กรมทรัพยากรธรณี 28 มี.ค. – กรมทรัพยากรธรณี แถลงสถานการณ์แผ่นดินไหว 8.2 รอยเลื่อนสะกาย ประเทศเมียนมา
28 มีนาคม 2568 นายพิชิต สมบัติมาก อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี พร้อมด้วยนายสุวภาคย์ อิ่มสมุทร รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ในฐานะโฆษกกรมทรัพยากรธรณี นายวีระชาติ วิเวกวิน นักธรณีวิทยาชำนาญการพิเศษ ร่วมกันแถลงความคืบหน้าสถานการณ์แผ่นดินไหวรอยเลื่อนสะกาย บนบกขนาด 8.2 ที่ระดับความลึก 10 กิโลเมตร และมีแผ่นดินไหวตามมา (After Shock) มีขนาด 2.8 – 7.1 จำนวน 27 ครั้ง (ข้อมูล ณ เวลา 18.48 น.) (ที่มา : USGS กรมอุตุนิยมวิทยา และกรมทรัพยากรธรณี)
สาเหตุเกิดจากรอยเลื่อนสะกาย รับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนเป็นบริเวณกว้าง และสร้างความเสียหายจำนวนมาก ทั้งในประเทศเมียนมาและในประเทศไทย
นายพิชิต กล่าวว่า จากสถานการณ์แผ่นดินไหวบนบกในครั้งนี้ จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ที่บริเวณเมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา ห่างจากเมืองสะกายไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือค่อนไปทางเหนือเป็นระยะทาง 16 กิโลเมตร ห่างจากกรุงเทพมหานคร 1,100 กิโลเมตร โดยศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่ละติจูด 22.013 องศาเหนือ ลองจิจูด 95.922 องศาตะวันออก ขนาด 7.7 ตามมาตราเมอร์คัลลี (Modified Mercalli intensity scale) หรือ 8.2 ริกเตอร์
สาเหตุเกิดจากการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนสะกาย ซึ่งเป็นรอยเลื่อนระนาบเหลื่อมขวา (Right-lateral strike slip fault) แนวตัวในแนวทิศเหนือ-ทิศใต้ ซึ่งมีอัตราการเคลื่อนตัวประมาณ 18-20 มม./ปี ผลกระทบ มีรายงานการรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนเป็นบริเวณกว้าง และมีรายงานความเสียหายจำนวนมาก ทั้งในประเทศเมียนมาและในประเทศไทย
อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ยังกล่าวอีกว่า การเกิดแผ่นดินไหวในครั้งนี้เกิดจากรอยเลื่อนสะกาย และมีอาฟเตอร์ช็อกเกิดขึ้นอีกหลายครั้ง แต่ความรุนแรงจะลดลง ยืนยันกับประชาชนที่ยังมีความวิตกกังวลให้ผ่อนคลายได้ เพราะแผ่นดินไหวเกิดบนบกจะไม่มีปัญหาสึนามิ แต่หลังจากนี้ต้องเฝ้าระวัง 24 ชั่วโมง ให้ติดตามข่าวสารจากแหล่งที่น่าเชื่อถือของทางหน่วยงานราชการ ส่วนการสำรวจทางวิศวกรรมของอาคารต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร สามารถรับแรงสั่นสะเทือนได้มากกว่า 7 ริกเตอร์ ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครตั้งอยู่บนดินดอน ปากแม่น้ำ มีดินเหนียว ทำให้แรงสะเทือนเกิดการรับคลื่นได้มากกว่าปกติ และเกิดความเคลื่อนไหวได้มากกว่าปกติ
นายพิชิต กล่าวว่า อาคารที่มีความสูงต่ำกว่า 10 ชั้น สามารถกลับเข้าสู่ที่พักอาศัยได้ และให้ตรวจสอบสภาพความเสียหาย หากพบความผิดปกติควรตรวจสอบความปลอดภัยก่อน ส่วนอาคารที่สูงเกิน 10 ชั้น หากพบสิ่งผิดปกติควรแจ้งฝ่ายวิศวกรรมตรวจสอบให้แน่ใจ หลังจากเกิดแผ่นดินไหว สิ่งที่ควรเฝ้าระวัง คือ การเกิดอัคคีภัย ที่อาจเกิดจากท่อแก๊ส หรืออุปกรณ์ไฟฟ้าที่ชำรุดเสียหาย และให้เตรียมความพร้อมรับมือกับอาฟเตอร์ช็อก อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า หากขนาดไม่เกิน 6 ริกเตอร์ จะไม่รับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือน
ทั้งนี้ กรมทรัพยากรธรณี ได้ติดตามสถานการณ์และเตรียมพร้อมให้การสนับสนุนข้อมูลกับประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง.-419-สำนักข่าวไทย