29 ม.ค. – รมว.ยธ. เปิดงานเสวนา “มุมมองและเสียงสะท้อน ภายหลังกัญชากระท่อมออกจากกฎหมายยาเสพติด” เพื่อรับฟังความคิดเห็น ป้องกันการใช้กัญชา-กระท่อมในทางที่ผิด ส่งผลต่อ เด็ก-เยาวชน
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดงานเสวนา “มุมมองและเสียงสะท้อน ภายหลังกัญชา กระท่อมออกจากกฎหมายยาเสพติด” โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ระบุว่า ภายหลังพืชกระท่อมและกัญชาถูกยกเลิกจากการเป็นยาเสพติด โดยเจตนารมณ์ คือเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ เศรษฐกิจ และการใช้กระท่อมในวิถีชาวบ้าน
แต่ในอีกทางหนึ่งพบว่ามี การจำหน่ายน้ำต้มใบกระท่อมที่ไม่ได้รับอนุญาต รวมถึงมีการจำหน่ายกระท่อม กัญชา ให้แก่เด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ส่งผลให้เด็กและเยาวชนและประชาชน เข้าถึง และใช้ กัญชา กระท่อม เพิ่มขึ้น และมีการนำมาใช้ในทางที่ผิด เพื่อความบันเทิง โดยนำไปผสมยาควบคุม ยาอันตราย วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และยาเสพติดให้โทษ
เจอปัญหาผลกระทบทางลบจากชุมชน ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการลักลอบผสมน้ำกระท่วม ทั่วสุม การร้องเรียนเรื่อง จากปัญหากระท่อมมีเยอะขึ้น ผ่านทาง ป.ป.ส. การเปิดรับฟัง วันนี้ จึงต้องมองผลกระทบรอบด้าน เพื่อปรับปรุงกฎหมายผ่านทางสภาต่อไป
โดยนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง ยังพูดคุยในประเด็นต่างๆ โดย รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหายาเสพติด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยถึง สถานการณ์กัญชา กระท่อมในประเทศไทย เปิดเผยข้อมูล การใช้ กัญชา กระท่อมเพื่อนันทนาการในประชากรไทยอายุ 18 ถึง 65 ปี สูงขึ้นในช่วงระยะเวลาสามปี (2562-2565) ในทุกกลุ่มอายุ โดยเฉพาะในปีสุดท้าย (2565) ที่มีการเพิ่มสูงขึ้นของการใช้กัญชาร้อยละ2 เป็นร้อยละ 25 นอกจากนี้ หลังนำกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษ พบการใช้กัญชาแบบสูบในเยาวชนไทยอายุ 18-19 ปีสูงขึ้น 10 เท่าจากร้อยละหนึ่งถึงสองเป็นร้อยละ 9.7 ในระยะเวลาเพียงสามปี
นอกจากนี้ผลการศึกษาการสำรวจตลาดออนไลน์ยังพบผลิตภัณฑ์เสพติดสมัยใหม่ที่พบในไทยมากถึง 20 ประเภท เช่น กระท่อมผง, สกัด, กัญชาไฟฟ้า, ก๊าซหัวเราะ, ยาแก้ไอ, ผลิตภัณฑ์น้ำหวานเลียนแบบยาแก้ไอ, น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้ากัญชา น้ำกัญชา, ขนมกัญชา, น้ำกระท่อม, ขนมกระท่อม, บุหรี่มวนกัญชาพันลำ DIY, ผลิต 4×100 เป็นต้น โดยค่าสินค้าที่พบว่ามีการค้นหามากที่สุดคือ น้ำหวานทดแทนยาแก้ไอ 46% เครื่องดื่ม Lean 22% กัญชาอัดแท่ง 11% เยลลี่เมา 10% และเห็ดเมา 6%
ด้านนายไพศาล ลิ้มสถิต กรรมการบริหารศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงแนวทางการ ควบคุมทางกฎหมายที่เหมาะสมที่ทำได้เลย โดยไม่ต้องรอการแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.กัญชากัญชง คือ การแก้ไขประกาศกระทรวงสาธารณสุข ในเรื่องการกำหนดประเภทยาเสพติดให้โทษประเภท 5 โดยกำหนดให้ตัวช่อดอกกัญชา ไปเป็นสารเสพติดประเภท 5 เหมือนเดิม .-สำนักข่าวไทย