กทม. 27 ส.ค.- โครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน งานก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ระยะแรก กรุงเทพ นครราชสีมา คืบหน้ากว่าร้อยละ 24 การรถไฟฯ เร่งแก้ปัญหา เพื่อเปิดบริการในปี 2570
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย เผยความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง ไทย- จีน กรุงเทพ – หนองคาย 608 กิโลเมตร ระยะแรก จากกรุงเทพ ถึง นครราชสีมา ระยะยาว 253 กิโลเมตร วงเงิน 1 แสน 8 หมื่นล้านบาท ภาพรวมงานการก่อสร้างโครงการฯ มีความคืบหน้า 24% ที่ล่าช้าเพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด ช่วงปี 63-65 ทำให้การก่อสร้างต้องหยุดชะงัก จาก 14 สัญญา แล้วเสร็จไป 1 สัญญา อยู่ระหว่างก่อสร้าง 10 สัญญา เตรียมการ 1 สัญญา ยังไม่ลงนาม 2 สัญญา ที่ยังเป็นปัญหา คือ ช่วงการก่อสร้างสถานีจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อาจกระทบกับมรดกโลก ขณะนี้อยู่ระหว่างอัยการสูงสุดตอบกลับร่างสัญญา อย่างไรก็ตาม หากตกลงกับทางกรมศิลปากรไม่ได้ การรถไฟมีความจำเป็นต้องก่อสร้างเส้นทางเดินรถตามแผน แต่จะไม่ก่อสร้างสถานีอยุธยา พร้อมยืนยันไม่ย้ายสถานีอยุธยาไปที่บ้านม้า เพราะสภาพพื้นที่เป็นทุ่งนา ไม่เอื้ออำนวย คาดว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วง 1 กทม. – นครราชสีมา จะเปิดเดินรถได้ในปี 2570
สำหรับการจัดหาขบวนรถไฟความเร็วสูงจากจีน มาวิ่งบริการรูปแบบรถจะเป็นเหมือนรถไฟความเร็วสูงของประเทศจีน เป็นขบวนรถรุ่น ฟู่ซิงห้าว Fuxing Hao CR300 วิ่งความเร็ว 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หนึ่งขบวนมี 8 ตู้ ค่าโดยสารตลอดสายประมาณ 500 บาท ขณะนี้รอประกวดราคา
ส่วนความคืบหน้าการก่อสร้าง ช่วงที่ 2 นคราชสีมา – หนองคาย ระยะทาง 355 กิโลเมตร วงเงิน 3 แสนล้านบาท การออกแบบเสร็จแล้ว ต้องรอขออนุมัติจากรัฐบาล ชุดใหม่ หากเห็นชอบก็จะสามารถประกวดราคา และก่อสร้างได้ทันที สำหรับก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ เชื่อมไทยไปสู่สปป.ลาว และจีน เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหมยุคใหม่.–สำนักข่าวไทย