กรุงเทพฯ 27 เม.ย. – มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์การเข้าถึงไซยาไนด์ได้ง่ายขึ้นในปัจจุบัน นักวิชาการด้านเคมี ชี้ว่าไซยาไนด์ เป็นสารอันตราย มีกฎหมายคุ้มครองใช้ในอุตสาหกรรรม ย้ำผู้ซื้อ-ขาย ต้องได้รับอนุญาตเท่านั้น แนะเจ้าหน้าที่ควบคุม หลังยังพบขายออนไลน์
รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ ภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า ไซยาไนด์ เป็นสารพิษอันตราย เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก หรือ มีในครอบครอง ซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ในอดีต ไซยาไนด์เคยถูกใช้ในสงครามหลายครั้ง ไซยาไนด์ มีทั้งรูปแบบ ก๊าซ และของแข็ง โดยที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง คือ โพแทสเซียมไซยาไนด์ ที่มีลักษณะเป็นผงสีขาว เมื่อละลายน้ำเป็นของเหลวจะไม่มีสี หากเข้าสู่ร่างกายเป็นอันตราย จะระคายเคืองบริเวณที่สัมผัส ร่างกายอ่อนแรง เวียนศีรษะ คลื่นไส้ หายใจติดขัด หมดสติ เสียชีวิตอย่างรวดเร็ว
ส่วนในโรงงานอุตสาหกรรมไซยาไนด์ เป็นสารเคมีที่ใช้ชุบโลหะ อุตสาหกรรมพลาสติก ใช้เป็นวัตถุดิบผลิตสีย้อม เป็นต้น ซึ่งผู้ซื้อ ผู้ขาย หรือครอบครอง ต้องได้รับอนุญาต และเป็นสารเคมีที่ต้องนำเข้าจากประเทศ แต่ปัจจุบันกลับพบว่า มีขายแพร่หลายในออนไลน์ ดังนั้น หน่วยงานควรควบคุมตรวจสอบและเข้มงวด เพราะสารดังกล่าวอันตราย ต้องมีอุปกรณ์ป้องกันทั้งการสัมผัส สูดดม หรือหากเผลอเข้าร่างกายก็ส่งผลถึงแก่ชีวิต เพราะสารไซยาไนด์ เป็นสารเคมีที่มีพิษสูงมากและออกฤทธิ์รวดเร็ว ความรุนแรงของอาการอาจขึ้นอยู่กับชนิด ปริมาณ และระยะเวลาในการได้รับ มองว่าจากเคส น.ส.แอม ที่ใช้ไซยาไนด์ในทางที่ผิด เป็นยาพิษนั้น น่าจะมีความรู้ในการใช้งาน เพราะรู้จักสารปริมาณการใช้ และการหน่วงเวลาในการใช้สารจนออกฤทธิ์ต่อร่างกาย
อย่างไรก็ตาม วันนี้จะเริ่มตรวจสอบวัตถุพยานที่ถูกส่งมาจากพื้นที่ส่วนหนึ่ง สนับสนุนเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน 7 ตรวจหาสารพิษจากเคสนี้ โดยใช้ห้องปฏิบัติการเทคนิคชั้นสูง ตรวจสอบวัตถุพยานที่เก็บได้จากรถยนต์ 2 คัน ทั้งของแอมและก้อย และที่บ้าน เพื่อหาสารพิษ ยาพิษ หรือ สารเคมีที่เชื่อมโยงกับไซยาไนด์ หรือสารพิษอื่นๆ อย่างละเอียด หากมีการใช้สารพิษดังกล่าว คาดว่าจะมีปนเปื้อนอยู่ตามสสาร วัตถุต่างๆรอบๆ ตัว ก็สามารถตรวจสอบทางแล็บได้ .-สำนักข่าวไทย