23 ส.ค. – รมต.สธ.มาเลเซีย เยี่ยมโรงสกัดกัญชาองค์การเภสัชฯ พิจารณาใช้ทางการแพทย์ “อนุทิน” ปลื้ม พร้อมถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ หนุนมิตรประเทศเดินหน้า
ที่องค์การเภสัชกรรม อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ได้นำนาย Khairy Jamaluddin ABU BAKAR รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสาธารณสุข ประเทศมาเลเซีย เยี่ยมชมโรงงานผลิตยาและสารสกัดกัญชาขององค์การเภสัชกรรม
นายอนุทิน กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่ได้มีโอกาสต้อนรับรัฐมนตรีจากมิตรประเทศ และถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการทำนโยบายกัญชาทางการแพทย์ ซึ่งทางมาเลเซียกำลังสนใจในเรื่องนี้ สำหรับนโยบายของไทย เชื่อเหลือเกินว่าการคลายล็อกกัญชา ช่วยสร้างเสริมสุขภาพ และความมั่งคั่งให้กับประชาชน นี่คือยุคสมัยของการแสวงหาโอกาส เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน
กับรัฐมนตรีมาเลเซีย เคยพบกับท่านแล้วที่การประชุมสมัชชาอนามัยโลกที่เจนีวา เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และเริ่มมีการพูดคุยเรื่องการแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับนโยบายกัญชากันแล้ว กระทั่งทางมาเลเซียติดต่อเข้ามา เพื่อที่จะขอข้อมูลเพิ่มเติม ทางประเทศไทย พร้อมให้ความร่วมมือ เพราะไทยเอง มีความรู้เรื่องกัญชา ที่สั่งสมมากว่า 300 ปี อันที่จริง หากย้อนกลับไป กัญชาคือส่วนหนึ่งของชีวิตคนไทย มีผสมอยู่ในอาหาร และยา ไทยไม่ใช่มือใหม่เรื่องนี้ กลับกัน เรามีองค์ความรู้มหาศาลที่พร้อมถ่ายทอดกับทุกท่านที่สนใจ
ทั้งนี้ มองว่านโยบายมีความคืบหน้าไปมาก ปัจจัยความสำเร็จ อยู่ที่การสนับสนุนของรัฐบาล องค์ความรู้ที่แข็งแกร่ง ไปจนถึงการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ที่ท่านรัฐมนตรีมาเลเซียได้มาศึกษาที่องค์การเภสัชกรรม คือ องค์ความรู้ของไทย ที่ยอดเยี่ยม ต่อยอดมาจากการค้นคว้าวิจัย ที่มีความเป็นมาอย่างยาวนาน
ต้องขอบคุณองค์การเภสัชกรรม ซึ่ง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่นี่คือหน่วยงานสำคัญ ในการพาไทยต่อสู้กับโควิด-19 มาจนถึงวันนี้ ที่นี่กำลังเป็นจุดเริ่มต้นของการทำให้กัญชา กลายเป็นพืชเศรษฐกิจ นอกจากนั้น เรายังมีหน่วยงานสำคัญ คือ กรมการแพทย์แผนไทย และแพทย์ทางเลือก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และองค์การอาหารและยา ที่ช่วยกันกำกับดูแลการใช้กัญชา เพื่อพัฒนาสุขภาพประชาชน ปัจจุบัน ได้นำกัญชามาใช้อย่างหลากหลาย และสารสกัดจากกัญชา ก็อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ในระบบหลักประกันถ้วนหน้า เป็นทางเลือกด้านการรักษาพยาบาลของคนไทย
ชัดเจนแล้วว่า ประเทศไทยพร้อมแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กับทางมาเลเซียในนโยบายกัญชาทางการแพทย์ ไปจนถึงความร่วมมือในอนาคต ในการพัฒนานโยบายเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน แน่นอนว่ากับทางมาเลเซีย การเดินหน้านโยบายกัญชาไม่ใช่งานง่าย แต่ทางไทย ก็พร้อมเป็นทั้งกำลังใจ และพร้อมให้การสนับสนุนอย่างมิตรประเทศ
ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประเทศมาเลเซีย กล่าวว่า ยินดีอย่างยิ่งที่ได้มาชมการปลูกและการสกัดกัญชา เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วย ทางมาเลเซียจะนำเรื่องนี้ไปพิจารณา เพราะเป็นสัญญาปที่ให้ไว้ ในการมุ่งหาทางพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
สำหรับองค์การเภสัชกรรมนั้น ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ชนิดหยดใต้ลิ้น 4 สูตร นำมาใช้กับผู้ป่วยกลุ่มโรคที่กรมการแพทย์กำหนด ได้แก่ สูตร THC เด่น, สูตรที่มี THC และ CBD สัดส่วน 1:1, สูตรที่มี THC เข้มข้น 81 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร หรือ THC FORTE สำหรับใช้รักษาเสริมภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด ผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะท้าย และสูตร CBD เด่น สำหรับผู้ป่วยโรคลมชักในเด็ก ซึ่งมีการนำไปใช้จริงกับผู้ป่วยจากคลินิกกัญชานำร่อง 12 เขตสุขภาพ ก่อนขยายสู่คลินิกกัญชาทางการแพทย์ในสถานพยาบาลภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ นอกจากนี้ กรมการแพทย์และสถานพยาบาลต่างๆ ยังได้ทำการศึกษาและขยายขอบเขตการใช้ในกลุ่มโรคต่างๆ ให้คลอบคลุมยิ่งขึ้น เช่น โรคพาร์กินสัน และโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง เป็นต้น ล่าสุดสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ทั้ง 4 สูตร บรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร พ.ศ.2564
องค์การเภสัชกรรมได้ขยายกำลังการผลิตวัตถุดิบช่อดอกกัญชาจากการปลูกในรูปแบบ Indoor พื้นที่ 100 ตารางเมตร ไปยังพื้นที่ปลูกขององค์การเภสัชกรรม อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี ในการปลูกรูปแบบโรงเรือน Green House และทำการศึกษาสภาวะการปลูกที่เหมาะสมในแต่ละโรงเรือนควบคู่ไปด้วย เพื่อให้ได้ผลผลิตกัญชาทางการแพทย์ที่มีปริมาณสารสำคัญตามกำหนด และเพื่อให้ได้วัตถุดิบที่มีมาตรฐานเมดิคัลเกรดแท้จริง รวมถึงพัฒนาพื้นที่ปลูกกัญชาขนาด 1,000 ตารางเมตร ในรูปแบบ Indoor ณ อาคารฝ่ายสมุนไพรและเภสัชเคมีภัณฑ์ องค์การเภสัชกรรม อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี อีกหนึ่งแห่ง อยู่ระหว่างการติดตั้งระบบปลูก คาดว่าเริ่มปลูกได้ประมาณต้นปี 2566 ปลูกกัญชาได้ประมาณ 5,000 ต้นต่อปี เป็นผลผลิตช่อดอกกัญชาจำนวน 1,000 กิโลกรัมต่อปี
นอกจากนี้ยังเตรียมรองรับวัตถุดิบจากกัญชง สำหรับนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ยา เวชสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยร่วมกับเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการ 12 แห่งทั่วประเทศ ในการปลูกกัญชงคุณภาพตามมาตรฐานที่องค์การเภสัชกรรมกำหนด ร่วมกับโครงการหลวงและสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) นำเมล็ดกัญชงมาสกัดเป็นน้ำมัน เพื่อเป็นส่วนประกอบในการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและผู้ประกอบการได้อีกทางหนึ่ง ปัจจุบันพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดแล้ว 2 รายการ ได้แก่ ชาใบกัญชงพร้อมดื่ม และผลิตภัณฑ์ SIBANNAC Hemp Seed Oil Bedtime Lip Care ผลิตจากน้ำมันเมล็ดกัญชง ในรูปแบบลิปบาล์ม ที่มีส่วนช่วยลบเลือนริ้วรอย และให้ความชุ่มชื้นแก่ริมฝีปาก. – สำนักข่าวไทย