เชียงใหม่ 19 มี.ค. – “วราวุธ” สั่งเข้มยกระดับเฝ้าระวังปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ภาคเหนือเป็นพิเศษ ช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.นี้ ชี้แม้ไฟป่าลดลง แต่ไม่ชะล่าใจ ยังต้องวางมาตรการเข้ม
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานการประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง PM 2.5 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ที่ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ผ่านระบบ VDO Conference ไปยังหน่วยงานในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ และฟังแผนการเตรียมความพร้อมการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และหมอกควันในพื้นที่ป่าสงวน
โดยนายวราวุธ เน้นย้ำการบูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ผ่านกลไกคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ภายใต้แผนปฏิบัติการ เน้น 1 สื่อสาร 5 ป้องกัน 3 เผชิญเหตุ พร้อมกำชับให้ทุกหน่วยงานนำบทเรียนที่ได้จากการดำเนินงานที่ผ่านมา ยกระดับการทำงานในทุกมิติ และเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2565 เพื่อให้เกิดผลสำเร็จ นำไปสู่การป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันได้อย่างยั่งยืน พร้อมขยายการดำเนินงานโครงการ “ชิงเก็บ ลดเผา” บริหารจัดการเชื้อเพลิงให้ครอบคลุมพื้นที่ป่า พื้นที่เกษตร พื้นที่ชุมชน และพื้นที่ริมทาง เป้าหมายรวม 3,000 ตัน และเร่งรัดการดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนให้เป็นรูปธรรม เพื่อสร้างรายได้และแรงจูงใจให้เกิดความร่วมมือ ตลอดจนให้ทุกหน่วยงานในพื้นที่เตรียมความพร้อมของเครื่องมือและอุปกรณ์ให้มีสภาพดี พร้อมใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดเวลา ส่วนปัญหาหมอกควันข้ามแดน ให้กรมควบคุมมลพิษประสานประเทศเพื่อนบ้านอย่างใกล้ชิด ดำเนินการตามข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน โดยเฉพาะการบรรลุเป้าหมายลดจุดความร้อน (Hot Spot) ในอาเซียนได้ร้อยละ 20
จากนั้น นายวราวุธ เดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์ไปยังอุทยานแห่งชาติสาละวิน อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน เพื่อติดตามสถานการณ์ภาพรวมการเตรียมความพร้อมการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง PM 2.5 พร้อมทั้งมอบนโยบายและแนวทางการดำเนินงานให้กับหน่วยงาน รวมทั้งให้กำลังใจเจ้าหน้าที่และเครือข่ายอุทยานแห่งชาติฯ ตลอดจนร่วมทำแนวกันไฟ และกิจกรรมชิงเก็บ ลดเผา
สำหรับสถานการณ์จุดความร้อนในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ตั้งแต่เดือนมกราคม-ปัจจุบัน พบจุดความร้อนลดลงร้อยละ 69 จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 พบว่า 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน เกิดจุดความร้อนในพื้นที่ป่าเป็นส่วนใหญ่ ร้อยละ 87 ในขณะที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนล่างเกิดจุดความร้อนในพื้นที่เกษตรเป็นส่วนใหญ่ ร้อยละ 59 เมื่อเปรียบเทียบจุดความร้อนสะสมในอนุภูมิภาคแม่โขง 5 ประเทศ ไทยมีจำนวนจุดความร้อนลดลงมากที่สุด ส่วนสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 พบค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ลดลงร้อยละ 38 และจำนวนวันที่มีค่า PM 2.5 เกินมาตรฐาน ลดลงร้อยละ 43. – สำนักข่าวไทย