ภูมิภาค 15 ส.ค. – ระดับน้ำแม่น้ำปิง จ.เชียงใหม่ ที่ล้นตลิ่ง ลดลงสู่ภาวะปกติ แต่ยังมีน้ำท่วมขังบ้านเรือนประชาชนในที่ลุ่มต่ำในตัวเมืองหลายหลัง ด้านกองอำนวยน้ำแห่งชาติ แจ้งเตือน 7 จังหวัดริมฝั่งแม่น้ำโขง เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากเขื่อนไซยะบุรี สปป ลาว
นายอภิชาติ เหมือนมนัส นายอำเภอเมืองเชียงใหม่ นำคณะให้ความช่วยเหลือชาวบ้านหมู่บ้านต้าร้องขี้ควาย ต.สันผีเสื้อ ที่อยู่พื้นที่ลุ่มติดกับลำน้ำปิง มวลน้ำล้นตลิ่งท่วมขังบ้านระดับน้ำสูงกว่า 1 เมตร ล่าสุดระดับน้ำลดลงต่ำกว่าตลิ่งแล้ว แต่ยังมีน้ำท่วมขังบ้าน บางหลังน้ำยังท่วมชั้นล่างและเต็มไปด้วยโคลน ต้องอาศัยอยู่แต่ชั้นบน และยังต้องพายเรือเข้าออก
ขณะที่คอกเลี้ยงหมู เลี้ยงวัว และโรงเลี้ยงไก่ บ้านบางหลัง ระดับน้ำยังท่วมขังสูง ต้องย้ายสัตว์เลี้ยงไว้บนที่สูง นอกจากนั้นยังมีบางครอบครัวมีผู้ป่วยติดเตียงต้องไปอาศัยนอนในคอกหมู และโรงเลี้ยงจิ้งหรีด ของชุมชนเศรษฐกิจพอเพียงของหมู่บ้านแทน
ทางนายอำเภอได้นำผ้าอ้อมและถุงยังชีพไปมอบให้ พร้อมกับเงินจำนวนหนึ่ง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ส่วนทางเทศบาลตำบลสันผีเสื้อจะนำเครื่องสูบน้ำไปติดตั้งสูบน้ำที่ขังออก และนำรถดับเพลิง พร้อมจิตอาสา เข้าไปล้างทำความสะอาด
จ.หนองคาย น้ำโขงเพิ่มสูง เฝ้าระวังกระชังปลา
ส่วนที่ จ.หนองคาย ระดับน้ำโขงวัดได้ 8.66 เมตร เพิ่มจากเช้าวานนี้ 1.11 เมตร ต่ำกว่าตลิ่ง 3.54 เมตร ปริมาณน้ำฝน 21.9 มม. ระดับน้ำโขงที่เพิ่มขึ้นนี้เกิดจากฝนตกหนักในพื้นที่ตอนเหนือ และเขื่อนไซยะบุรี สปป ลาว ระบายน้ำ เนื่องจากมีปริมาณฝนตกหนักต่อเนื่อง ต้องมีการระบายน้ำออกจากเขื่อน ส่งผลให้พื้นที่ท้ายเขื่อน และ 7 จังหวัดริมแม่น้ำโขงของไทย ได้รับผลกระทบ ปริมาณน้ำโขงเพิ่มสูงขึ้น กองอำนวยการน้ำแห่งชาติได้แจ้งเตือนให้ 7 จังหวัดริมแม่น้ำโขง เฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำโขงเปลี่ยนแปลงอย่างใกล้ชิด คาดว่าจะเป็นเช่นนี้ไปจนถึงวันที่ 18 ส.ค.นี้
ในส่วนของ จ.หนองคาย ซึ่งมีพื้นที่ติดริมแม่น้ำโขง 221 กิโลเมตร ตลอดแนวทั้งจังหวัด หลายอำเภอมีเกษตรกรเลี้ยงปลานิลกระชังในแม่น้ำโขง เมื่อระดับน้ำโขงเปลี่ยนแปลงขึ้นลงจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกรและปลาที่เลี้ยง ทั้งปริมาณน้ำหลาก ทำให้น้ำขุ่นแดง น้ำไหลเชี่ยวกราก เกษตรกรผู้เลี้ยงกระชัง เช่น ในพื้นที่ ต.หินโงม ต.สีกาย อ.เมืองหนองคาย ซึ่งมีการเลี้ยงปลานิลกระชังเป็นจำนวนมาก เกษตรกรจึงต้องหมั่นตรวจสภาพกระชังให้มั่นคงแน่นหนา หมั่นปรับกระชังปลาให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำ และเฝ้าระวังไม่ให้ปลาป่วยตาย หรือน็อกน้ำ ซึ่งเกิดได้บ่อยเมื่อแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงสภาพ
เขื่อนป่าสักระบายน้ำเพิ่ม
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า มีแผนระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี เพิ่ม โดยเช้านี้ (15 ส.ค.) มีน้ำในเขื่อน 450.17 ล้าน ลบ.ม. เมื่อเทียบกับความจุ 960 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 46.89% น้ำไหลเข้า 22.01 ล้าน ลบ.ม. อัตราการระบายอยู่ที่ 160.57 ลบ.ม.ต่อวินาที คาดจะปรับเพิ่มการระบายน้ำท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ตั้งแต่วันพรุ่งนี้
อธิบดีกรมชลประทาน บอกว่าจะต้องจัดการจราจรน้ำระหว่างเขื่อน 3 แห่ง คือ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท และเขื่อนพระราม 6 จ.พระนครศรีอยุธยา โดยพิจารณาอัตราการระบายให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ที่เชื่อมโยงกันมีประสิทธิภาพสูงสุด
แม่น้ำท่าจีนรับน้ำลดลง 10 เท่า แก้น้ำท่วมนาภาคกลาง
เพื่อป้องกันน้ำท่วมนาข้าวในพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี กรมชลประทานจะลดการรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาสู่แม่น้ำท่าจีนลง 10 เท่า จากที่รับได้ในอัตราสูงสุด 200 ลบ.ม.ต่อวินาที เหลือ 20 ลบ.ม.ต่อวินาที เนื่องจากก่อนหน้านี้มีฝนตกหนักใน จ. สุพรรณบุรี ทำให้มีน้ำท่วมขังนาปีในทุ่งโพธิ์พระยาเขต อ.บางปลาม้า สองพี่น้อง และอู่ทอง
ปกติแล้วน้ำในทุ่งโพธิ์พระยา สามารถระบายลงสู่ลำน้ำได้ แต่ตอนนี้น้ำในลำน้ำต่างๆ เพิ่มขึ้นมาก ทำให้น้ำที่ขังในทุ่งไหลลงไม่ได้ จึงจำเป็นต้องลดการรับน้ำเข้าสู่แม่น้ำท่าจีน แล้วติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ เพื่อเร่งระบายออกอ่าวไทยที่ จ.สมุทรสาคร พร้อมกับเร่งสูบน้ำที่ท่วมขังทุ่งนาออกให้หมด หากไม่มีฝนตก คาดว่าจะกลับสู่ภาวะปกติใน 1 สัปดาห์ เพื่อให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ภายในกลางเดือน ก.ย.นี้
ส่วนสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยาวันนี้เริ่มทรงตัว น้ำไหล อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ 1,352 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งใกล้เคียงกับเมื่อวาน
การระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ประมาณ 1,200 ลบ.ม./วินาที เท่ากับเมื่อวานนี้ ส่งผลให้ระดับน้ำพื้นที่ด้านท้ายเขื่อน บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำเริ่มทรงตัว ได้แก่ คลองโผงเผง จ.อ่างทอง, คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด อ.ผักไห่ และ ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา .-สำนักข่าวไทย