ขอนแก่น 14 ก.พ.-อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดโครงการเส้นทางสู่นวัตวณิชย์ ครั้งที่ 9 ระดับประเทศ (Research to Market: R2M) ประจำปี 2564 นำผลการวิจัยจากสถาบันการศึกษาออกสู่เชิงพาณิชย์และสร้างโอกาสให้อาจารย์ นักวิจัย ผู้คิดค้นนวัตกรรม และนักศึกษา
พิธีเปิดได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.นพ.ศิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานกล่าวเปิดงาน รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวต้อนรับ และ ศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ในการจัดงาน ซึ่งการประกวดครั้งนี้เป็นรูปแบบออนไลน์ 100% ภายใต้มาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ณ อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น
ศ.ดร.นพ.ศิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า การผลักดันงานวิจัยของทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษาเป็นอีกหนึ่งยุทธศาสตร์ที่สำคัญ พร้อมทั้งสามารถใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งโครงการประกวดเส้นทางสู่ นวัตวณิชย์ ได้สนับสนุนนโยบายดังกล่าวมาตลอดระยะเวลา 9 ปี มีแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจน โดยการพัฒนาแนวทางที่จะเกิดธุรกิจจากงานวิจัยเพื่อนำไปสู่เชิงพาณิชย์ให้ได้ พร้อมทั้งมหาวิทยาลัยที่ได้ร่วมเป็นเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคได้มีการบ่มเพาะนักศึกษา ทั้งการพัฒนาแผนธุรกิจ การเงิน และการศึกษาความเป็นไปได้ มีการวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงลึกเพื่อที่จะใช้ผลงานวิจัยเป็นฐาน ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญเนื่องจากในอนาคต ที่จะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศได้
ด้าน รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ปัจจุบันงานวิจัยและการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ คือความท้าทายของนวัตกรผู้คิดค้น ขณะเดียวกันการผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมให้ถูกใช้งานได้จริง และสามารถสร้างยอดขายได้ ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายไม่ต่างกัน ตลอดระยะเวลาเกือบ 1 ทศวรรษที่ผ่านมา โครงการประกวดเส้นทางสู่นวัตวณิชย์ (Research to Market) มุ่งสร้างคนควบคู่ไปกับการสร้างงานวิจัยและนวัตกรรม โดยสนับสนุนให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างนักวิจัยและนักศึกษาในการผลักดันผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ ผ่านกลไกการดำเนินงานของอุทยานวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในการสร้างนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนประเทศในระดับภูมิภาคและระดับชาติต่อไป
ด้าน ศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ กล่าวว่า โครงการประกวด เส้นทางสู่นวัตวณิชย์ (Research to Market: R2M)รอบระดับประเทศ ครั้งที่ 9 โดยมีนักศึกษา นักวิจัยเข้าร่วมกิจกรรมและได้รับการปลูกฝังความตระหนักรู้สู่การเป็นผู้ประกอบการ จำนวนกว่า 1,100 คน โดยใช้องค์ความรู้และผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยกว่า 50 ผลงาน จนเกิดเป็นแผนธุรกิจกว่า 320 แผน จนสามารถผ่านเข้ามาในรอบระดับประเทศจำนวนทั้งสิ้น 22 ทีม จาก 16 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ รวมผลงานวิจัยที่นำมาต่อยอดในโครงการกว่า 50 ผลงาน ทั้งนี้ทางเจ้าภาพได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เป็นระบบออนไลน์ 100% โดยมีคณะดำเนินงานอำนวยความสะดวกให้แก่เครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ทั้ง 14 จังหวัด เพื่อลดการพบปะและรวมตัวของคนกลุ่มมาก โดยการจัดงานครั้งนี้มีความมุ่งหวังให้นักศึกษาและนักวิจัยได้ร่วมกันจัดทำแผนศึกษาความเป็นไปได้ทางธุรกิจจนเกิดเป็นธุรกิจได้อย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต
ส่วนผลการประกวดมีดังนี้
รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม Daisy Glazz จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ผลงานวิจัย : กระจกผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โดยนักวิจัย นายธนารักษ์ โพธิ์สิงห์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม รับเงินรางวัล 30,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม Smart Tech Lab จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ผลงานวิจัย : ชุดตรวจหาการกลายพันธุ์ของยีน NPM1 สำหรับโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน โดยนักวิจัย ผศ.ดร.สุวิทย์ ด้วงมะโน คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รับเงินรางวัล 20,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีม Gen-A-Tech จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
ผลงานวิจัย : การตรวจสอบเพศอินทผลัมด้วย DNA โดยนักวิจัย รศ.ดร.มารินา เกตุทัต-คาร์นส์ สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี รับเงินรางวัล 10,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ
รางวัลชมเชย ได้แก่ ทีม More Kit จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
ผลงานนวัตกรรม ชุดทดสอบตรวจหาเชื้อราเดอร์มาโตไฟต์ชนิดทริโคพัยตอน โดยนักวิจัย ผศ.ดร.สืบตระกูล วิเศษสมบัติ สำนักวิชาสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ รับเงินรางวัล 5,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ
รางวัลชมเชย ได้แก่ ทีม TopTeam จากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ผลงานวิจัย : เครื่องล้างผลไม้ลดสารพิษตกค้างและฆ่าเชื้อโรคด้วยเทคโนโลยีโอโซนไมโครบับเบิ้ลผสานกับ อัลตราโซนิคควบคุมด้วยเทคโนโลยี IoT โดยนักวิจัย ดร.อนิรุธ สืบสิงห์ คณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เงินรางวัล 5,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ .-สำนักข่าวไทย