นครราชสีมา 27 ก.ย. – ผู้ใหญ่บ้านมาบกราด ต.โคกกระชาย อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา พาไปเก็บ “ส้มโก่ย” หรือองุ่นป่า ที่พบได้ทั่วไปในป่าแถบนี้ช่วงหน้าฝน
ส้มโก่ย แต่ละพื้นที่เรียกต่างกัน ที่นครราชสีมา เรียกว่า เครืออีโกย, อีโก่ย, ส้มโก่ย ส่วนทางภาคใต้เรียกว่า ส้มกุ้ง ลักษณะลำต้นเป็นเถาวัลย์เลื้อยพาดต้นไม้อื่น ใบมีขอบหยัก ส่วนผลลักษณะกลมรี ออกเป็นกระจุกคล้ายพวงองุ่น ผลดิบมีสีเขียวอ่อน พอเริ่มห่ามมีสีแดง และเมื่อสุกงอมจะมีสีม่วงดำ
ผู้ใหญ่เพลิน บอกว่า องุ่นป่า หรือ ส้มโก่ย จะแตกยอดออกมาในช่วงฝนแรก เลื้อยขึ้นไปตามต้นไม้ ออกลูกช่วงกลางหน้าฝน และจะสุกในช่วงปลายฝน จากนั้นลำต้นก็จะแห้งตายเหลือไว้เพียงรากในดิน แล้วจะแตกยอดอีกครั้งในช่วงหน้าฝนใหม่ ลูกส้มโก่ยดิบๆ มีรสชาติเปรี้ยวมาก แต่จะเริ่มออกหวานตอนสุก ชาวบ้านนิยมนำเอาลูกห่ามไปตำส้มตำ แต่ต้องนำไปตำรวมกับผลไม้ที่มีรสฝาด อาทิ กล้วยดิบ หัวปลี ละมุด ซึ่งตามภูมิปัญญาของคนโบราณเชื่อว่า ความฝาดจะช่วยลดอาการระคายเคือง ทำให้ความคันของส้มโก่ยหายไป ส่วนสรรพคุณทางยา เชื่อกันว่า องุ่นป่า หรือส้มโก่ย ช่วยลดความดันและไขมันในเลือด มีวิตามินซีสูง ช่วยลดความอ่อนเพลีย เมื่อยล้า บำรุงหัวใจ ร่างกายสดชื่น ทั้งยังสามารถนำไปดอง แช่อิ่ม เก็บไว้รับประทานได้นานๆ อีกด้วย .-สำนักข่าวไทย