ขอนแก่น 22 ม.ค. – เทศบาลนครขอนแก่นอ่านเกมล่วงหน้าหลายปีว่าปัญหาในกลุ่มเด็ก เยาวชน จะสร้างความหนักใจให้กับสังคม จึงมีการวางมาตรการป้องกันและเอกซเรย์หากลุ่มเสี่ยงมายับยั้งพฤติกรรมอย่างได้ผล ล่าสุดขยายผลไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีก 3 แห่ง
ศูนย์สร้างโอกาสเด็กและเยาวชนนอกระบบ เป็นหนึ่งในนวัตกรรมของเทศบาลนครขอนแก่น ที่จับมือ 25 องค์กร ให้ความสำคัญกลุ่มเด็กชายขอบมากว่า 10 ปีแล้ว มีเด็ก เยาวชนกลุ่มเสี่ยงเข้ามาบ่มเพาะ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกว่า 100 คน ด้วยกิจกรรมค่ายเสริมทักษะชีวิตหลากมิติ ส่วนใหญ่มีเส้นทางชีวิตที่ดี ไม่หวนกลับเส้นทางเดิมที่สังคมติฉินนินทา 9 เดือน มักจะเห็นผล รายใดยังไม่นิ่งก็จะยืดให้อีกราว 1-2 เดือน
น้องหนึ่ง วัย 19 ปี เป็น 1 ใน 12 คนล่าสุดที่เข้ามาร่วมชายคาศูนย์สร้างโอกาสฯ ขณะนี้กำลังเตรียมพื้นที่เลี้ยงตั๊กแตนและแมงดาเพื่อการเรียนรู้ น้องหนึ่ง ยอมรับว่าเคยดื้อกับครอบครัว ไม่เชื่อฟัง ติดยาเสพติด แรกเริ่มมาตามคำชวนเพื่อน แต่เมื่อได้รับการสั่งสอนจากคนที่เข้าใจ เพียง 4 เดือน ก็เปลี่ยนพฤติกรรมของเขาได้มาก มีปัญหากับครอบครัวน้อยลง และเป็นครั้งแรกที่ได้หยิบยื่นเงินให้แม่ จากการทำงานดูแลสวนกล้วยข้างศูนย์สร้างโอกาสฯ ที่มีเบี้ยเลี้ยงให้วันละ 300 บาท และงานรับจ้างทั่วไปที่พี่ๆ เครือข่ายหามาป้อนให้
ที่นี่ยังเป็นศูนย์การเรียนชุมชนกลุ่มเป้าหมายพิเศษ ของ กศน.อำเภอเมืองขอนแก่น ป้อนทั้งวิชาการ ทักษะชีวิต และช่องทางประกอบอาชีพ น้องหนึ่งและเพื่อนๆ จะได้วุฒิเพิ่มเติม เสริมโอกาสดีๆ ให้ชีวิต
พี่เปี๊ยก อดีตหัวหน้าแก๊งมังกรดำ เป็นหนึ่งในตัวจักรสำคัญที่สร้างความศรัทธา ไว้ใจในกลุ่มเด็กวัยรุ่น มีการเปิดใจด้วยวงเนื้อย่าง ต่อยอดด้วยกีฬาสานสัมพันธ์ 22 แก๊งวัยรุ่นเมืองขอนแก่น ถูกสลาย และคุมกำเนิดไม่ให้มีแก๊งใหม่ อย่างไรก็ตาม แม้ทำกิจกรรมมาต่อเนื่อง แต่เมื่อการกระทำความผิดของกลุ่มเด็ก เยาวชน กำลังเป็นกระแส คณะทำงานก็ไม่ประมาท ลงพื้นที่ประสานชุมชนเอกซเรย์กลุ่มเสี่ยง นำตัวเข้ามาอบรมเพื่อป้องปรามการก่อเหตุ
สำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. เล็งเห็นปัญหาดังกล่าว เตรียมอนุมัติงบประมาณเปิดโรงเรียนให้เด็กนอกระบบโดยเฉพาะ โดยใช้ศูนย์สร้างโอกาสเด็กและเยาวชนนอกระบบ เทศบาลนครขอนแก่น เป็นจุดคัดกรอง 3 เดือน
อย่างไรก็ตาม 2-3 ปีที่ผ่านมา มีการบูรณาการเด็ก เยาวชนหลายกลุ่ม ทั้งในและนอกระบบการศึกษา ทำกิจกรรมค่ายร่วมกัน รวมทั้งขยายผลไปยังผู้ปกครอง เกิดค่ายห้องเรียนพ่อแม่ มาร่วมทำกิจกรรมกระชับความสัมพันธ์กับลูกหลาน
จากความสำเร็จของขอนแก่นโมเดล มีหลายจังหวัดเข้ามาศึกษาดูงาน ส่วนในพื้นที่เอง จากเทศบาลนครขอนแก่น ล่าสุด ขยายไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีก 3 แห่ง ทั้งในอำเภอเมือง น้ำพอง และสีชมพู.-สำนักข่าวไทย