ตรัง 17 ม.ค. – เกษตรกร จ.ตรัง คิดต่าง หันมาปลูกต้นแก่นตะวัน ขายทั้งดอกและหัว ให้กลุ่มคนรักสุขภาพ สร้างรายได้กว่า 1,500 บาท/วัน
น.ส.สุมาลี เมืองมีศรี อายุ 42 ปี จบปริญญาโท อดีตพนักงาน อบต.แห่งหนึ่งใน จ.กระบี่ ชักชวนสามี อดีตเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลย่านตาขาว จ.ตรัง หันมาปลูกต้นแก่นตะวันเป็นอาชีพหลัก บนเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ ทดแทนการปลูกยางพารามาตั้งแต่ปี 2558 ที่ ต.ทุ่งกระบือ อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง หลังจากเห็นว่าต้นแก่นตะวันเป็นพืชมหัศจรรย์ที่มีดอกสีเหลืองสวยคล้ายกับดอกบัวตอง
ดอกสีเหลืองนำมาทำเป็นชา ชงดื่มบรรเทาอาการความดันโลหิตสูง โรคเก๊าท์ เบาหวาน ลดน้ำตาลในเลือด ปวดไมเกรน วัยทอง มีกลิ่นหอมคล้ายกับดอกเก๊กฮวย
ส่วนหัวหรือเหง้า สรรพคุณคล้ายกับดอก รับประทานสดได้ รสชาติหวานมันติดฝาดเล็กน้อย เกษตรกรนำมาฝานเป็นชิ้นเล็กๆ นำไปอบกรอบ หรือทำให้เป็นผง ขายหัวสดกิโลละ 550 บาท หากแปรรูปแล้ว น้ำหนักขนาด 50 กรัม ขายราคาซองละ 80 บาท ผลตอบรับดีมาก โดยเฉพาะในกลุ่มคนรักสุขภาพ สร้างรายได้เดือนละ 30,000-50,000 บาท
นอกจากนี้ ใบของต้นแก่นตะวัน ยังใช้เป็นอาหารสัตว์ เพื่อลดต้นทุน และนำไปทำเป็นกระดาษได้ แก่นตะวัน 1 ต้น ให้หัวหรือเหง้าประมาณ 2-3 กิโลเมตร โดยใช้เวลาปลูกประมาณ 3-4 เดือน
เกษตรกรกำลังรวบรวมสมาชิกให้หันมาใช้พื้นที่ว่างในร่องสวนยางพาราวัยอ่อน และสวนปาล์ม ปลูกแก่นตะวันให้มากขึ้น โดยจะรับซื้อในราคายุติธรรม เพื่อสร้างงานสร้างรายได้ในชุมชน ผลผลิตของแก่นตะวันตอนนี้ส่งขายทางออนไลน์ทั่วประเทศ ที่สำคัญคือยังไม่มีคู่แข่ง เพราะปลูกเพื่อการค้าเป็นเจ้าเดียวใน จ.ตรัง ขณะที่ความต้องการของตลาดยังมีอีกมาก
นอกจากนี้ ยังมีผักสวนครัว เช่น ผักเคล ผักกาดหอม กะหล่ำปลี จิงจูฉ่าย และผักเมืองหนาวอื่น ๆ จำหน่ายในราคาต้นละ 5 -200 บาท อีกจำนวนหลายร้อยต้น ใครสนใจติดตามได้ทางเพจเฟซบุ๊ก แก่นตะวันณิชกมล . – สำนักข่าวไทย