ตรัง 6 เม.ย. –ไปชิม “ลอดช่องแป้งสาคู” ที่ได้จากต้นสาคู อ.นาโยง ถือเป็นป่าสาคูผืนใหญ่ผืนสุดท้ายที่สุดของจังหวัดตรัง ราดด้วยน้ำกะทิสด หรือใส่น้ำแข็ง สดชื่นลื่นคอ เหมาะกับอากาศร้อนๆ ช่วงนี้
กลุ่มผู้หญิงป่าสาคูร่วมใจ ต.นาข้าวเสีย อ.นาโยง จ.ตรัง ทำลอดช่องจากแป้งสาคู ได้จากต้นสาคูที่เป็นพืชจำพวกปาล์มชนิดหนึ่ง มีแป้งในลำต้น นำมาผ่าและเข้าเครื่องรีดเอาแต่น้ำมาแช่ทิ้งไว้ 1 คืน ก่อนรินน้ำด้านบนทิ้ง เหลือแต่ตัวแป้ง นำมาตากแดดให้แห้ง ใช้ทำขนม ทำเส้นก๋วยเตี๋ยว ทำขนมจีนและทุกอย่างที่ใช้แป้ง สามารถใช้แป้งสาคูทำได้หมด
ต้นสาคูที่เหลือในพื้นที่อำเภอนาโยง ถือว่าเป็นป่าสาคูผืนใหญ่ผืนสุดท้ายที่สุดของ จ.ตรัง มีต้นสาคูเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและชาวบ้านร่วมกันปลูกเพิ่มขึ้นมา อยู่ตามริมแม่น้ำ ลำคลอง หรือที่ชื้นน้ำ ยังคงหลงเหลือให้เห็นอยู่อีกจำนวนหนึ่ง ส่วนเมนูเด็ดที่ได้จากต้นสาคูช่วงหน้าร้อนนี้ คือ “ลอดช่องแป้งสาคู” ที่ทางกลุ่มเร่งผลิตเพื่อให้ทันต่อความต้องการของลูกค้า เวลากินจะราดด้วยน้ำกะทิสด หรือใส่น้ำแข็งกินคู่กัน เพิ่มความหอมหวานและเย็น นุ่มละมุนลิ้น และมีประโยชน์ต่อสุขภาพ แป้งสาคูมีจุดเด่นคือ ความเหนียวมากกว่าแป้งชนิดอื่น ลื่นคอข้าว และมีกลิ่นสาคูที่เป็นเอลักษณ์ ส่วนกากแป้งสาคูที่เหลือ นำไปเลี้ยงด้วงสาคูได้อีกทางหนึ่งด้วย
![](https://tna.mcot.net/wp-content/uploads/2023/04/06/1149249/1680781710_395477-tnamcot-1024x579.jpg)
นางละเมียด รัตนะ หรือป้าเมียด อายุ 71 ปี ประธานกลุ่มผู้หญิงสาคูรวมใจ กล่าวว่า แป้งสาคูมีกลิ่นไอของสาคูแตกต่างจากแป้งข้าวเจ้า โดยมีคนมาเรียนรู้ตั้งแต่ตนเองทำสาคู จนตอนนี้ขยายไปทั่ว จ.ตรัง และพัทลุง แป้งสาคูไม่เฉพาะแค่ของหวานเท่านั้น แต่ยังนำไปทำกินกับของคาวได้เหมือนกัน เช่น ทำเส้นขนมจีน หรือเส้นก๋วยเตี๋ยวก็ได้
พื้นที่ ต.นาข้าวเสีย เป็นแหล่งต้นสาคูมาตั้งแต่อดีต หลายร้อยปี เห็นสาคูมาโดยตลอด โตขึ้นเห็นแม่ก็ทำแป้งสาคูแล้ว จนมารุ่นป้า เหมือนเป็นการถ่ายทอดจากแม่สู่ลูก ความรู้สึกที่ได้มาทำแป้งสาคูเพราะอยากนำสิ่งที่ดี สิ่งที่มีค่า เช่นต้นสาคูในชุมชน ออกมาทำให้มีคุณค่ามากที่สุด และใช้สาคูเป็นแกนกลางในการส่งเสริมอาชีพให้คนในชุมชน เช่น เสื่อจากสาคู แป้งจากสาคู
สำหรับแป้งสาคูผงที่นำไปทำลอดช่องขายกิโลกรัมละ 120 บาท และสาคูเม็ดกิโลกรัมละ 150 บาท หากสั่งทำลอดช่องแป้งสาคูพร้อมรับประทานขายกิโลกรัมละ 100 บาท . – สำนักข่าวไทย