ภูเก็ต 21 ต.ค. – รองผู้ว่าฯ ภูเก็ต ลงพื้นที่ตรวจอาคารทรุดตัวถล่มลงมาทับอาคารด้านหน้า บริเวณถนนเยาวราช อ.เมือง พบใช้ฐานรากแผ่ ไม่ได้ตอกเสาเข็ม ประกอบกับมีฝนตกต่อเนื่อง ทำให้ดินอ่อนตัว ขณะนี้ได้อพยพผู้อยู่อาศัยออกหมดแล้ว ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ เตรียมออกคำสั่งห้ามใช้อาคาร และตรวจสอบเพื่อความปลอดภัย หากไม่สามารถซ่อมแซมได้ ก็ต้องรื้อถอนตามขั้นตอนต่อไป
ภาพความเสียหายอาคารห้องเช่าไม่มีชื่อ ในซอยประยูร 2 ถนนเยาวราช ต.ตลาดใหญ่ อ.เมือง จ.ภูเก็ต ที่ทรุดตัวและถล่มลงมา ก่อนหน้านี้เจ้าของอาคารพบรอยร้าว โดยเฉพาะบริเวณทางขึ้นบันไดไปยังชั้น 2 ของอาคาร ทางเจ้าของอาคารให้ผู้เช่าอพยพออกจากตัวอาคารในช่วงสายของวันที่ 20 ตุลาคม 2565 ก่อนที่อาคารจะทรุดตัวลงในช่วงดึกของวันดังกล่าว
นายธรรมฤทธิ์ ฤทธิ์ภักดี วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองภูเก็ต เปิดเผยว่า จากตรวจสอบพบว่ามี 3 อาคาร ตั้งเรียงกันไปตามลำดับชั้นที่เป็นเชิงเขา ตัวอาคารชุดแรกอยู่ด้านในและบนสุดเกิดสภาวะถล่มจากตอม่อขาด ทำให้อาคารไม่สามารถรักษาเสถียรภาพได้ และเอนมาทับอาคารชุดที่ 2 ซึ่งอยู่ตรงกลาง เนื่องจากคานขาดแต่ตอม่อไม่ขาด ทำให้หลังคาทรุดลงมาทับอาคารชุดที่ 2 ส่งผลให้ตอม่อและเสาของอาคารชุดที่ 2 ขาด รับน้ำหนักไม่ไหวและเอนมาทับอาคารชุดที่ 3 ซึ่งอยู่ด้านหน้าสุด จึงทำให้ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากอาคารชุดแรกและชุดที่ 2 อยู่ในสภาพที่ไม่ปลอดภัย ส่วนสาเหตุเบื้องต้นคาดว่าเกิดจากการสไลด์ของดินจากบนภูเขาที่อยู่ด้านหลังของอาคารเคลื่อนลงมา ทำให้ดินหายไปและตัวอาคารเกิดการสไลด์ตามดินลงมาจนตอม่อขาดและทรุดตัวลงมา ทั้งนี้จะมีการตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง
ล่าสุดเช้าวันนี้ นายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบความเสียหาย โดยมีชาวบ้านที่อยู่บริเวณใกล้เคียงมาติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
นายพิเชษฐ์ ปานะพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า ก่อนอาคารทรุดตัว ผู้ที่อยู่ในอาคาร ได้ยินเสียงดังลั่นบริเวณใต้อาคาร ทำให้ผู้ที่อยู่อาศัยเริ่มกลัว และมีรอยร้าวบริเวณทางขึ้นชั้น 2 เจ้าของอาคารจึงให้ผู้เช่าอพยพออก และพบว่ามีน้ำไหลลงมา จึงเอาปูนไปปิดกั้นทางน้ำ แต่ไม่สำเร็จเนื่องจากฝนตกต่อเนื่อง ทำให้อาคารที่ก่อสร้างเชิงเขาในสุดทรุดลงตัวจากดินที่อุ้มน้ำและมากระแทกตึกแถวหน้าซึ่งเป็นอาคารในสุด นอกจากนี้ยังพบว่าอาคารไม่ได้ตอกเสาเข็ม และมีผู้เช่าอยู่ประมาณ 5-6 ห้อง
จากปัญหาที่เกิดขึ้นพบว่าอาคารที่ก่อสร้างริมเชิงเขาหากไม่ได้ตอกเสาเข็ม ขั้นตอนต่อไปทางกองช่างของเทศบาลตำบลรัษฎา ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ จะเข้าตรวจสอบเพื่อสั่งระงับการใช้อาคาร และหากพบว่าอาคารเสียหายมาก ก็จะสั่งรื้อถอนตามระเบียบกฎหมายต่อไป. – สำนักข่าวไทย