ทำเนียบรัฐบาล 23 พ.ค.-นายกฯ ปาฐกถาเวทีเอสแคป เสนอ 3 แนวทางก้าวข้ามการฟื้นฟูหลังวิกฤติโควิด ก้าวสู่การพัฒนาในภูมิภาคอย่างยั่งยืนยุค “Next Normal”
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวปาฐกถาพิธีเปิดการประชุมประจำปีของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) สมัยที่ 78 ผ่านการบันทึกเทปวีดิทัศน์ โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นโอกาสพิเศษที่เอสแคป ฉลองครบรอบ 75 ปีของการก่อตั้ง วันนี้โลกและภูมิภาคกำลังเผชิญความท้าทายที่มีความหลากหลายและมีมิติซับซ้อนยิ่งขึ้น รวมถึงวิกฤติโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบวงกว้าง
“ทำให้ความเหลื่อมล้ำในมิติต่าง ๆ ทั้งภายในและระหว่างประเทศเด่นชัดขึ้น การดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) อยู่ในภาวะชะงักงัน ไทยยึดมั่นและเชื่อมั่นในระบบพหุภาคี สหประชาชาติ และเอสแคป มาตลอด 75 ปีของการเป็นสมาชิกสหประชาชาติ และการดำเนินงานของสหประชาชาติและเอสแคป ยิ่งทวีความสำคัญที่จะช่วยให้เราผ่านพ้นความท้าทายในปัจจุบันและอนาคตไปด้วยกัน” นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรี เสนอ 3 แนวทางเพื่อก้าวข้ามการฟื้นฟูหลังวิกฤติโควิด-19 ไปสู่การพัฒนาในภูมิภาคอย่างมั่นคงยั่งยืนในยุค “Next Normal” ได้แก่ การเติบโตอย่างสมดุล พลิกโฉมการพัฒนาไปสู่แนวทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตอบสนองและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเติบโตอย่างมีภูมิต้านทาน สร้างความเข้มแข็งในการรับมือต่อปัจจัยที่ส่งผลกระทบอย่างฉับพลัน โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง และการเติบโตอย่างรอบด้านและครอบคลุม ส่งเสริมความเชื่อมโยงในมิติต่าง ๆ ทั่วถึง อำนวยความสะดวกด้านการค้าการลงทุน การเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคและโลก โดยโครงสร้างพื้นฐานและอุตสาหกรรมดิจิทัล ส่งเสริม MSMEs และสตาร์ทอัพ จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากในยุค 4IR
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทุกสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ด้วยการพัฒนาทุนมนุษย์ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน รวมทั้งพัฒนาคนทุกช่วงวัยผ่านการศึกษาทุกรูปแบบ และการเสริมสร้างทักษะต่าง ๆ เป็นพลังขับเคลื่อนการเติบโตไปด้วยกัน การใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหัวใจในการพัฒนา และนำโมเดลเศรษฐกิจ BCG มาเป็นแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทย มุ่งสร้างภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หลังวิกฤติโควิด-19 ที่เปิดกว้าง เชื่อมโยงและสมดุล ซึ่งเป็นแนวคิดพื้นฐานการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคของไทยในปีนี้ด้วย
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไทยมี EEC ส่งเสริมและรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดความหลากหลาย ความเชื่อมโยง และความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต รวมทั้งส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางสาธารณสุขที่จำเป็นและขยายให้ครอบคลุมคนทุกกลุ่มในสังคม รวมถึงแรงงานโยกย้ายถิ่นฐาน ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งช่วยให้ไทยรับมือกับโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงพร้อมร่วมมือเพิ่มความเข้มแข็งให้สาธารณสุขโลก
“เอสแคปสามารถมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกและภาคส่วนต่าง ๆ ในภูมิภาค รวบรวมองค์ความรู้ และแนวปฏิบัติที่ดี ตลอดจนระดมทรัพยากรที่จำเป็น เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายของเราต่อไป โดยไทยอยากเห็นเอสแคปพัฒนาศักยภาพไปสู่องค์กรที่สามารถใช้องค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ ๆ ในการคาดการณ์และแจ้งเตือนวิกฤติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ประเทศไทยมุ่งมั่นและพร้อมสนับสนุนการดำเนินงานของเอสแคป และเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือที่สร้างสรรค์ เพื่อบรรลุวาระร่วมกันในการสร้างหลักประกันที่มั่นคงให้กับคนทุกรุ่น ซึ่งเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของเราทุกคน” นายกรัฐมนตรี กล่าว.-สำนักข่าวไทย