กรุงเทพฯ 2 เม.ย. – “เอ้ สุชัชวีร์” เบอร์ 4 ปชป. หนุนแนวคิดเกษตรอินทรีย์ ให้ กทม.รับซื้อ ส่งต่อ ร.ร. ศูนย์เด็กเล็กในสังกัด กทม. สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน พร้อมเสนอแนวคิดจัดการขยะ ใช้รถพลังงานสะอาดหลายขนาด เก็บขยะตามซอยเล็ก
วันที่ 2 เมษายน 2565 เวลา 16.00 น. ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ (เอ้ สุชัชวีร์) ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เบอร์ 4 พร้อมด้วยนายปริญญ์ พานิชภักดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. ของพรรคประชาธิปัตย์ ได้เข้าร่วมแสดงวิสัยทัศน์ ในเทศกาล “หมุนเวียน/เปลี่ยนเมือง” ครั้งที่ 1 ตอน “ชอบจึงหมัก รักจึงปลูก” จัดโดยสมาคมเครือข่ายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (The NETWORK) โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนในเขตเมืองตระหนักถึงความสำคัญของเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยเริ่มต้นจากสิ่งใกล้ตัวจากการหมักเศษขยะ ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ
ก่อนเริ่มงาน เอ้ สุชัชวีร์ เดินเยี่ยมชมร้านค้าจากกลุ่มผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์ ที่มาจัดแสดงสินค้าเกษตรและอุปกรณ์เพื่อการเกษตร พบว่า ผู้ค้าที่มาร่วมงานมาจากหลากหลายอาชีพ บางคนไม่ได้จบตรงสาย และไม่ได้ทำการเกษตรขนาดใหญ่ แต่ก็มีรายได้พอสมควร โดยได้รับคำแนะนำจากครูใหญ่ที่เป็นเกษตรกร
สำหรับการแสดงวิสัยทัศน์ของ เอ้ สุชัชวีร์ ได้ตอบคำถามเรื่องการจัดการขยะของ กทม. พร้อมนำเสนอแนวคิดทำเกษตรอินทรีย์ที่ยั่งยืน โดยกล่าวว่า สาเหตุที่ขยะใน กทม. ลดลงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เป็นเพราะมีนักท่องเที่ยวลดลง ในช่วงสถานการณ์โควิด แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีขยะให้พบเห็นได้ทั่วไป และการจัดการขยะ ซึ่งเป็นหน้าที่ของ กทม. ยังทำได้ไม่ดี เนื่องจาก 1. เข้าไม่ถึง 2. เก็บไม่ถี่ กทม.มีตรอกซอกซอยเยอะ แต่รถขยะมีขนาดใหญ่ จึงได้เสนอแนวคิดเรื่องการปรับขนาดรถขยะให้มีหลายไซซ์ เพื่อเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ และเริ่มต้นใช้พลังงานสะอาด
ส่วนเรื่องเก็บไม่ถี่นั้น เกิดจากเส้นทางการวิ่งของรถขยะไกลเกินไป เช่น ขยะจากตลาดราชวัตร เขตดุสิต ต้องไปทิ้งถึงสายไหม จึงจำเป็นต้องเพิ่มรถและเพิ่มคน เพื่อให้การบริหารจัดการคล่องตัวขึ้น
นอกจากนี้ยังได้แนะอีกว่า กทม.ควรสนับสนุนคนที่อยากทำการเกษตรในเมือง ให้มีความยั่งยืน รวมทั้งเรื่องการนำขยะไปหมักทำปุ๋ย และการทำเกษตรอินทรีย์ ด้วยการให้ กทม. เป็นผู้รับซื้อสินค้าเกษตรจากผลผลิตในเมือง เพื่อส่งให้โรงเรียนในสังกัด กทม. รวมถึงศูนย์เด็กเล็ก เพื่อเกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจในชุมชนได้ด้วย
สำหรับเรื่องกรุงเทพฯ 15 นาทีนั้น เอ้ สุชัชวีร์ มองว่า คนมักจะคิดถึงการเดินไปสวนสาธารณะ หรือเดินไประบบขนส่งสาธารณะ แต่เวลา 15 นาทีนั้น ผู้ปกครองสามารถเดินไปส่งเด็กไปโรงเรียนได้ และ 15 นาทีนั้น ผู้สูงอายุควรจะไปถึงหมอ ซึ่งการจะทำให้เป็นอย่างนั้นได้ กรุงเทพฯ ต้องเปลี่ยนเป็นเมืองสวัสดิการ ซึ่งการเป็นเมือง 15 นาที จะต้องเป็นเมืองที่มีสวัสดิการพื้นฐาน ที่ต้องเข้าถึงทั้งการศึกษา สาธารณสุข สวนสาธารณะ ระบบขนส่ง แต่ที่สำคัญที่สุดเหนือสิ่งอื่นใด จะต้องเป็นเมือง 15 นาทีที่เดินได้แล้วปลอดภัย และหัวใจของเมืองคนที่ใหญ่ที่สุดไม่ใช่ผู้ว่าฯ กทม. แต่คือคนเดินเท้า ซึ่งฟุตปาธต้องเรียบ เป็นมาตรฐานสากลด้วย. – สำนักข่าวไทย