23 ก.พ. – พล.อ.ประวิตร เร่งแก้ปัญหาค้ามนุษย์ จัดประชุมร่วมไทย-อเมริกา ทำหลักสูตรเพิ่มประสิทธิภาพเจ้าหน้าที่
วันพุธที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 14.00 น. ณ ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยปัญหาค้ามนุษย์ และมุ่งหวังดันประเทศไทยกลับขึ้นสู่สถานะ เทียร์ 2 ในการจัดลำดับ ตามรายงานสถานการณ์การต่อต้านการค้ามนุษย์ (TIP Report) จึงได้กำชับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายอย่างเต็มที่ พร้อมได้มอบหมายให้ พล.ต.อ.ดร.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการร่วมว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ ไทย – สหรัฐอเมริกา (ฝ่ายไทย) เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนประเทศไทย ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับ Mr.Adam West รักษาการที่ปรึกษาด้านการเมือง (Acting Political Counselor) สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย พร้อมด้วย Ms. Angeline Bickner (Political Affairs Associate) และคณะ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการจัดทำรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (TIP Report) เพื่อหารือความคืบหน้าการดำเนินงานด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย ฉบับปี 2564 และรายงานฉบับเพิ่มเติม ตั้งแต่เดือนมกราคม – มีนาคม 2565
พล.ต.อ.ดร.ธรรมศักดิ์ กล่าวว่า รัฐบาลมุ่งดำเนินคดีค้ามนุษย์ โดยเพิ่มประสิทธิภาพการสืบสวนสอบสวนช่องทางออนไลน์ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ทำให้ในปี 2564 ดำเนินคดีค้ามนุษย์ได้ถึง 186 คดี เพิ่มจากปี 2563 ร้อยละ 39.84 รวมทั้งขยายผลดำเนินคดีอาญาและทางวินัยกับเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ มีจำนวนเพิ่มขึ้น 17 ราย และเร่งรัดดำเนินการทางวินัยอีก 15 ราย นอกจากนี้ ได้ช่วยเหลือคนไทยที่โดนหลอกไปทำงานที่กัมพูชา 536 คน ซึ่งเข้าข่ายคดีค้ามนุษย์ 239 คน และมีผู้ต้องหา 43 คน จับกุมได้แล้ว 18 คน

ในขณะเดียวกัน รัฐบาลไทยขับเคลื่อนการดำเนินการตามข้อเสนอแนะใน TIP Report ของสหรัฐอเมริกา อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะที่เป็นโครงการสำคัญ หรือ Flagship อาทิ จัดตั้งศูนย์คัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ (ดอนเมือง) เพื่อใช้เป็นสถานที่คัดกรองและคัดแยกผู้ที่มีเหตุอันควรเชื่อว่าอาจเข้าข่ายเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ จัดทำขั้นตอนและแนวทางปฏิบัติ (SOP) ในการคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงานและการบังคับใช้แรงงาน กลไกการส่งต่อผู้เสียหายระดับชาติ (National Referral Mechanism) และกิจกรรมช่วงระยะเวลาฟื้นฟูไตร่ตรอง (Reflection Period) แก่บุคคลที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า เป็นผู้เสียหายจากการกระทำผิดฐานค้ามนุษย์ เพื่อยกระดับให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และสอดคล้องกับอนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์ (ACTIP) และแผนปฏิบัติอาเซียน (APA)
นอกจากนี้ ได้ให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพผู้ปฏิบัติงาน ได้แก่ การอบรมพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ทีมสหวิชาชีพให้เป็นผู้ชำนาญการ/เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ให้เป็นผู้สนับสนุนการปฏิบัติในพื้นที่ พัฒนาครูฝึกสอนด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (IDC) โดยความร่วมมือกับ FBI และสถาบันฝึกอบรมระหว่างประเทศ ILEA Bangkok จัดทำหลักสูตรพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยร่วมมือกับโครงการ ASEAN-ACT และมูลนิธิ IJM เพื่อสร้างมาตรฐานและแนวปฏิบัติในการดำเนินงานให้เป็นสากล และพัฒนาไปสู่การจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมแห่งความเป็นเลิศในการต่อต้านการค้ามนุษย์ของภูมิภาค (Center of Excellence for Combating Trafficking in Person) รวมถึงส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวที่ปลอดภัยและเป็นมิตรกับเด็ก (Child Safe Friendly Tourism) . – สำนักข่าวไทย