รัฐสภา 15 ก.พ.- กมธ.ดีอีเอส เชิญ กสทช.-ก.ดีอี-NT-ไทยคม ถกปัญหาวงโคจรดาวเทียม เผยเตรียมเปิดประมูลเดือนมิ.ย. แนะต้องมีแผนสำรองฉุกเฉินเผื่อประมูลไม่ทันเวลา อย่าทำให้มูลค่าสูงเกินจนกระทบประชาชน
น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี พรรคพลังประชารัฐ ในฐานประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า กมธ.ดีอีเอส ได้ประชุมเพื่อพิจารณาสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมสำหรับตำแหน่งวงโคจรดาวเทียม 119.5 องศาตะวันออก หรือ ดาวเทียมไทยคม 4 ที่จะหมดสัญญาในปี 2566 จึงจะต้องเปิดประมูลเพื่อต่อสัญญาวงโคจร โดยได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจง อาทิ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคม, สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.),บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (NT) การพิจารณาเรื่องดังกล่าวมีความสำคัญ ที่กมธ.ได้ติดตาม และรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ เนื่องจาก ดาวเทียมไทยคม 4 ที่ให้หมดสัญญา จึงต้องการทราบความชัดเจนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า เมื่อถึงเวลาสิ้นสุดระยะการประมูลแล้ว แต่ยังสามารถต่อสัญญาดำเนินการได้ เพราะมีเพียงไม่กี่บริษัท ที่มีคุณสมบัติประกอบการได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการอย่างไร และหากเกิดความเสียหาย ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ และมีวิธีการอย่างไร
น.ส.กัลยา กล่าวว่า กสทช. ได้ชี้แจงถึงความต่อเนื่องการให้บริการว่า กสทช. ได้เตรียมไว้ 2 ส่วน คือ ในกรณีที่เกิดเหตุขัดข้องโดยไม่คาดคิด และกรณีที่ดาวเทียมจะหมดอายุ และจะมีดาวเทียมดวงใหม่มาทันเวลาหรือไม่ ซึ่งในกรณีแรกนั้น กสทช. ได้มีแผนรองรับอาจต้องย้ายลูกค้าให้ไปใช้บริการจากดาวเทียมดวงอื่นชั่วคราว หรือในกรณีที่ดาวเทียมจะหมดอายุนั้น กสทช. ยืนยันว่า ได้พยายามเร่งกระบวนการเปิดประมูล แต่ก็ประสบปัญหาภายในของ กสทช. ที่กรรมการฯ ใกล้ครบวาระ และรอคณะกรรมการ กสทช. ชุดใหม่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ แต่สำนักงาน กสทช. ก็ได้พยายามแก้ไขปัญหา เพื่อให้การโทรคมนาคมของประเทศสามารถเดินหน้าต่อไปได้ เช่น การหาดาวเทียมดวงอื่นที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกันมาทดแทน หรือยอมให้มีช่องว่างเวลาระหว่างที่ดาวเทียมดวงแรกหมดอายุ ก่อนที่ดาวเทียมดวงใหม่จะมาให้บริการ ซึ่งในระหว่างนั้น ก็ยังคงอาจต้องใช้ดาวเทียมดวงอื่น ๆ ให้บริการชั่วคราว
ด้านพ.อ.เศรษฐพงศ์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะรองประธานกมธ.ดีอีเอส กล่าวว่า กสทช. มีความตั้งใจที่จะเปิดประมูลคัดเลือกผู้รับในอนุญาตประกอบการรายใหม่ ในเดือนมิถุนายนนี้ โดยให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบการรายใหม่ที่รับช่วงต่อ เป็นผู้รับผิดชอบในกรณีที่สามารถต่อสัญญาได้ทันตามกำหนด เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการให้บริการ หรือหากยังไม่มีผู้รับได้ทันกรอบเวลาบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด หรือ NT เป็นผู้รับผิดชอบ และทางกมธ. ได้แนะนำให้สำนักงาน กทสช. ได้เตรียมแผนฉุกเฉินกรณีที่ กสทช. ไม่สามารถเปิดประมูลสัญญาดาวเทียมได้ทันตามกำหนด เนื่องจาก กสทช. ชุดปัจจุบันใกล้จะครบวาระการทำงาน และหวังให้ กสทช. ได้รวบรวมความเห็นเชิงวิชาการว่า การเปิดประมูลนั้น ยังมีความจำเป็นหรือไม่ เพราะการประมูลคลื่นความถี่ เป็นความเฉพาะทาง และมีผู้ประกอบการบางรายเท่านั้นที่สามารถทำได้ และอาจมีผู้ประมูลเพียงรายเดียว หรือเกิดนอร์มินีมาร่วมประมูล จนอาจทำให้การประมูลต้องล้มไป หรือทำให้มูลค่าการประมูลสูงจนเป็นผลกระทบ เกิดภาระต่อประชาชน. สำนักข่าวไทย