รัฐสภา 9 ก.พ.- “ครูธัญ” ชี้แจงทั้งน้ำตา เสนอกฎหมายสมรสเท่าเทียม หวังผู้หลากหลายทางเพศได้รับสิทธิคุ้มครองตามกฎหมาย
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามที่นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส. พรรคก้าวไกล เป็นผู้เสนอ
ทั้งนี้ก่อนเริ่มพิจารณา นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ได้เตือนไปยังรัฐบาลว่าหากต้องการใช้สิทธิตามข้อบังคับ เพื่อขอนำร่างกฎหมายที่สมาชิกเสนอ ไปพิจารณาก่อนรับหลักการนั้น ควรแจ้งล่วงหน้าก่อน ทั้งนี้ เป็นผลมาจากที่กฎหมาย 2 ฉบับของพรรคก้าวไกล ที่มีการเสนอมาก่อนหน้านี้ ทั้งร่างพระราชบัญญัติสรรพสามิต และร่างพระราชบัญญัติการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่รัฐบาลได้ขอใช้สิทธิตามข้อบังคับ จนทำให้สภาไม่สามารถพิจารณาต่อ เข้าสู่วาระหนึ่งในชั้นรับหลักการได้
สำหรับร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ นั้น สาระสำคัญ คือ การกำหนดให้การสมรสที่ไม่จำกัดเพศเพียงชายหญิง และการสมรสที่ให้สิทธิทุกอย่างเท่ากับชายหญิง รวมไปถึงการสมรสของผู้มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา ที่ไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อบุคคลด้วยเหตุแห่งเพศ
ทั้งนี้ นายธัญวัจน์ ได้ชี้แจงหลักการในฐานะผู้เสนอร่างกฎหมาย ว่า เป็นการแก้ไข เพื้อให้ชายหญิงหรือบุคคลที่เป็นเพศเดียวกัน สามารถหมั้นหรือสมรส เป็นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย เปิดโอกาสให้คู่สมรสเพศเดียวกันสามารถรับเลี้ยงดูบุตรบุญธรรม ได้ตามกฎหมาย
นายธัญวัจน์ กล่าวว่ากฎหมายปัจจุบัน มีความเลือกปฏิบัติและไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ขัดต่อการดำรงอยู่ของบุคคลกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ จะทำให้บุคคลทุกคนมีความเท่าเทียมและได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย เนื่องจากในปัจจุบันกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานในการก่อสร้างครอบครัว ทำให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศไม่มีสิทธิ ไม่มีศักดิ์ศรี และไม่มีสวัสดิการ ทั้งนี้ช่วงหนึ่งนายธัญวัจน์ ได้กล่าวทั้งน้ำตา ว่า สิ่งที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศเรียกร้อง ไม่ได้เป็นการเรียกร้องมากไปกว่าผู้อื่น แต่สิ่งที่ออกมาเรียกร้อง เพียงแค่ต้องการบอกผู้มีอำนาจว่า เราถูกพลากสิทธิในการก่อตั้งครอบครัว ทั้งที่สิทธิในการก่อตั้งครอบครัว เป็นสิทธิที่ทุกคนควรต้องมี และเรื่องนี้ในหลายประเทศก็มีการคุ้มครองสิทธินี้ไว้ รวมถึงยังเป็นเรื่องที่ได้รับการรับรอง ไว้ในพันธะกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเองก็เข้าร่วมเป็นภาคี
ซึ่งการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ครั้งนี้ เป็นการเปลี่ยนจากคำว่าชาย-หญิง เป็นคำว่า “บุคคล” สอดคล้องกับหลักการระหว่างประเทศ ว่าการบัญญัติกฎหมายนั้นจะต้องคำนึงถึงเรื่องของเพศสภาพ เพศวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศ และปัจจุบัน มีมากกว่า 30 ประเทศทั่วโลก ที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียมแล้ว
นายธัญวัจน์ ยังได้ถ่ายทอดปัญหาของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่หลายคนมองว่าปัจจุบัน มีสิทธิเสรีภาพเพียงพอแล้ว แต่ข้อเท็จจริง คู่รักเพศเดียวกันใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน แต่ในยามป่วยไข้ ตามกฎหมายแล้ว ไม่สามารถให้คู่รักเซ็นยินยอมรักษาพยาบาลได้ การทำประกันชีวิตที่ต้องระบุผู้ได้รับผลประโยชน์ ก็ไม่สามารถระบุชื่อคู่รักเพศเดียวกันได้ รวมไปจนถึงการซื้อทรัพย์สิน บ้าน และที่อยู่อาศัย ที่ไม่สามารถถือครองร่วมกันได้ ดังนั้นหากเราไม่แก้ไขกฎหมายฉบับนี้ เท่ากับว่าประเทศไทยไม่ได้ให้คุณค่า ความรักของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ.-สำนักข่าวไทย