ทำเนียบ 10 ม.ค.- ศบค.เผยยอดป่วย “โอไมครอน” 5,397 ราย แจงเจ้าหน้าที่ทำเนียบติดโควิด เพียง 3 ราย พบรับเชื้อช่วงปีใหม่ ผลดีจากมาตรการเข้ม WFH
พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค รายงานสถานการณ์ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ว่า ล่าสุดพบผู้ติดเชื้อรายใหม่อีก 7,926 ราย โดยเป็นการติดเชื้อในประเทศ 7,514 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศอีก 412 ราย ติดเชื้อในประเทศ (แยกเป็นจากระบบเฝ้าระวังและบริการสุขภาพสูงถึง 7,229 ราย จากการตรวจคัดกรองเชิงรุกในชุมชน 90 ราย จากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 195 ราย) รวมยอดผู้ป่วยสะสมตั้งแต่ปี 63 รวม 2,277,476 ราย อย่างไรก็ตามหากรวมยอดผู้ป่วยจากการตรวจ ATK จำนวน 1,423 ราย ตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่จะมีถึง 9,349 ราย
สำหรับวันนี้มีผู้เสียชีวิตอีก 13 ราย ทำให้ยอดเสียชีวิตขยับไปที่ 21,838 ราย หายป่วยอีก 3,612 ราย รวมยอดรักษาหาย 2,197,479 ราย ยังรักษาอยู่จำนวน 58,159 ราย เป็นการรักษาอยู่ในรพ.33,286 ราย ในรพ.สนาม/HI-CI 24,874 ราย ทั้งนี้มีผู้ป่วยอาการหนัก 495 ราย มีผู้ป่วยหนักนี้ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจถึง 115 ราย
รายละเอียดผู้เสียชีวิต จำนวน 13 ราย พบเป็นคนไทยทั้งหมด เป็นเพศชาย 4 ราย เพศหญิง 9 ราย อายุ 23-93 ปี อยู่ในพื้นที่ นครปฐม ยะลา ชลบุรี มากสุดจังหวัดละ 2 ราย โดยปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดความรุนแรงของโรคและเสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป และมีโรคประจำตัว เป็นโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคไต โรคอ้วน ติดเตียง ซึ่งเป็นโรคประจำตัวที่เป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดความรุนแรงของโรคเพิ่มขึ้น
พญ.สุมนี กล่าวถึงความคืบหน้าการติดตามผู้ป่วยสายพันธุ์โอไมครอนในประเทศไทยว่า ขณะนี้ประเทศไทยพบผู้ป่วยสายพันธุ์โอไมครอนรวม 5,397 ราย คิดเป็น 35.17% สายพันธุ์เดลต้า 9,929 ราย คิดเป็น 64.71% ส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนจะไม่มีอาการ จึงจำเป็นที่ประชาชนจะต้องปฏิบัติตัวตามมาตรการป้องกันส่วนบุคคลอย่างเข้มงวด ไม่เข้าไปในสถานที่เสี่ยง และตรวจคัดกรองด้วยชุดตรวจ ATK เมื่อมีความเสี่ยง และสังเกตอาการแยกกักตัวตามมาตรการ
สำหรับผู้ป่วยที่เดินทางมาจากต่างประเทศ จำนวน 412 ราย เป็นคนไทย 25 ราย ต่างชาติ 376 ราย ไม่ระบุ 11 ราย พบว่าไม่มีอาการ 111 ราย อาการน้อย 301 ราย โดยแบ่งเป็นการเข้ามาในระบบTest and Go 61% sandbox 36% Quarantine 3%
พญ.สุมนี ยังกล่าวถึงมาตรการทำงานที่บ้าน WFH ของหน่วยงานต่างๆ ตามที่ศบค. กำหนดให้ปฏิบัติงานถึงวันที่ 31 ม.ค.นั้น มีตัวอย่างที่ชัดเจนจากกรณีที่มีข่าวว่า เจ้าหน้าที่ในสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี(สลน.) ติดโควิด-19 จำนวน 3 ราย เมื่อสอบสวนโรคแล้วพบว่าเกี่ยวโยงกับการได้รับเชื้อมาในช่วงเทศกาลปีใหม่ แต่เนื่องจาก WFH จึงพบว่า มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงไม่เกิน 5 ราย โดยทั้งหมดได้ถูกแยกกักรักษาเรียบร้อยแล้ว ถือเป็นตัวอย่างที่เป็นความโชคดีของหน่วยงานที่มีมาตรการ WFH ทำให้ไม่มีการระบาดเพิ่มเติม เนื่องจากเจ้าหน้าที่สลน. มีจำนวนมาก หลายร้อยคน หากมาทำงานเต็มรูปแบบ อาจจะพบว่ามีผู้ติดเชื้อมากกว่านี้ หรือมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจำนวนมากกว่านี้.-สำนักข่าวไทย