ทำเนียบรัฐบาล 13 ธ.ค.- นายกฯ พร้อมทบทวนโครงการสร้างนิคมจะนะ ย้ำต้องประชาพิจารณ์ ประเมินผลกระทบ เน้นประชาชนมีส่วนร่วม เตรียมหารือในครม.พรุ่งนี้ (14 ธ.ค.) วอนคนไม่เกี่ยวข้องอย่าทำให้วุ่นวาย
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมศูนย์บริสถานการณ์โควิด-19(ศบค.) ถึงการแก้ไขปัญหาโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลา ว่า ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาใหม่โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน และจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ในวันพรุ่งนี้(14 ธ.ค.) เพื่อจะนำปัญหาต่าง ๆ มาสู่กระบวนการการแก้ปัญหา
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มติครม.ไม่สามารถให้ทำนั่นทำนี่ได้ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการทำประชาพิจารณ์ประเมินผลกระทบสิ่งต่าง ๆ โดยต้องกลับมาทบทวนใหม่ทั้งหมด เรื่องนี้จะเป็นกรณีตัวอย่างในการทำอะไรต่าง ๆ ก็ตามที่ต้องทำตามนโยบายรัฐบาล เจตนารมณ์ของรัฐบาลคือต้องการให้ภาคใต้ของเรามีรายได้ดีขึ้น มีกิจการกิจกรรมต่าง ๆ เพิ่มขึ้น แต่ในส่วนของขั้นตอนการดำเนินการที่ยังมีปัญหาอยู่ ต้องมาทบทวนใหม่ โดยเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนมากขึ้น
“อยากขอร้องว่าอย่าชุมนุมกันอีกเลย รัฐบาลรับมาพิจารณาให้แล้ว และจะดำเนินการให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชน แต่จะบอกว่าให้ยกเลิกเลย อย่างนี้มันไม่ได้มั้ง เพราะมีกฎหมายหลายตัวที่เกี่ยวข้องอยู่ ทั้งเรื่องการทำประชาพิจารณ์ การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) การปรับพื้นที่สีเขียว สีม่วงต่าง ๆ ซึ่งมีกฎหมายและกระบวนการของเขาอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ครม.สั่งไม่ได้ เพียงแต่ต้องกำชับให้หน่วยงานต่าง ๆ ไปทำให้ถูกต้อง ตรงกับความต้องการของพื้นที่” นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ส่วนเรื่องอื่น ๆ เช่นเรื่องของที่ดินราคาจะถูกหรือไม่ถูก ใครเป็นเจ้าของ ต้องไปตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง ถ้าเอามาพันทั้งหมดจะไม่สามารถแก้อะไรได้สักเรื่อง ยืนยันว่ารัฐบาลจะแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน เพื่อให้เดินหน้าไปสู่ความต้องการของประชาชน ซึ่งมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย สิ่งสำคัญที่สุดคือไม่อยากให้คนที่ไม่เกี่ยวข้องเข้ามาสนับสนุนให้เกิดความวุ่นวายเท่านั้นเอง
“ขอให้เชื่อมั่น ผมให้ความสำคัญเรื่องนี้ หลายวันที่ผ่านมาไม่ได้หยุดคิดเลย แต่ที่ยังไม่พูดเพราะต้องการให้คนของเราไปตรวจสอบก่อน วานนี้(11 ธ.ค.) ส่งรองฯ สุพัฒนพงษ์ไปคุยกับแกนนำจะนะแล้ว เข้าใจกันดีขึ้น ที่สำคัญที่สุดคือการให้ข้อมูลข่าวสารต้องรวดเร็ว ทั่วถึง วันนี้มีการตรวจสอบทั้งจากกรรมการสิทธิมนุษยชน เจ้าพนักงาน ผู้ตรวจการแผ่นดินก็ชี้แจงแล้ว และจะหารือกันในครม.พรุ่งนี้” นายกรัฐมนตรี กล่าว.-สำนักข่าวไทย