ทำเนียบฯ 22 พ.ย.-“นิกร” ปิดช่องนับคะแนน MMP ชงใช้กึ่งไพรมารีโหวตเหมือน คสช.แก้เลือกตั้งปี 62 ระบุ ชทพ.ไม่เสียเปรียบระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ
นายนิกร จำนง ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะเลขาเลขานุการคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขปี พ.ศ. กล่าวถึงการโปรดเกล้าฯ รัฐธรรมนูญลงมา จะมีแนวทางการนับคะแนนอย่างไร ว่า ขณะนี้รัฐธรรมนูญผ่านแล้วตามที่คาดหมาย ซึ่งต่อจากนี้ก็สามารถเดินหน้าทำกฎหมายลูกได้เต็มที่ เนื่องจากเดิมต้องรอให้รัฐธรรมนูญลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้จึงจะสามารถเดินหน้าได้ ซึ่งเดิมตกลงกันว่าใช้เสียง 50 เสียง ต่างพรรคต่างยื่น แต่ตอนหลังมาคิดกันว่ารวมกันดีกว่าในฝ่ายรัฐบาล จึงตั้งคณะทำงานขึ้น โดยหลักการคือแก้ไม่มาก เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ โดยแก้ในกฎหมายเลือกตั้ง ไปกำหนดเรื่องการนับคะแนน หลักการคล้ายรัฐธรรมนูญปี 2550 แก้ไขปี 2554 ที่รวมคะแนนกันทั้งประเทศ มาคำนวณกับ 100 ที่ระบุว่า ส.ส.พึงมีมาตรา 92 ซึ่งเป็นส่วนค้างที่ไม่กล้าแก้ ทั้งนี้ คำว่าพึงมีนั้นหมายถึงบัตรใบเดียว จะไม่มีผลว่าจะสามารถทำระบบการเลือกตั้งแบบ MMP หรือ ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมได้ จึงไม่สามารถทำได้ พร้อมกับระบุว่า จะร่วมกันเป็นร่างเดียวในเบื้องต้น และมีการพูดคุยกันว่าแต่ละพรรคจะมีรายละเอียดไม่เหมือนกัน และมองว่าหากมีการแก้ไขเยอะจะแตกและจะทำยาก
ส่วนจะเป็นการเสียเปรียบของพรรคชาติไทยพัฒนาหรือไม่นั้น นายนิกร กล่าวว่า ไม่เสียเปรียบ แต่ยอมรับตั้งแต่ต้นว่า ไม่ได้เป็นพรรคขนาดกลางหรือขนาดใหญ่ เพราะฉะนั้นเมื่อแก้กฎหมายให้เลือกตั้งบัตรสองใบก็รู้อยู่แล้วว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ถือว่าเป็นโครงการให้ความสะดวกประชาชนในการลงคะแนนเสียง จึงยอม พร้อมกับระบุว่าการเลือกตั้งแบบบัตรสองใบนั้น นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นผู้คิดริเริ่มแล้วจะปฏิเสธได้อย่างไร และการนับคะแนนเสียงแบบนี้คงไม่มีปัญหาอะไรมากนัก พร้อมกับมองว่ากฎหมายการเลือกตั้งคงไม่มีปัญหา และพรรคร่วมรัฐบาลเสนอหนึ่งร่างรวมกัน ถ้าในพรรคแต่ละพรรคเห็นต่างก็ขอให้ไปแปรญัตติ อีกครั้งหนึ่ง ส่วนฝ่ายค้านตนประเมินว่า คงส่ง 2 ร่าง ส่วนตนมองว่าที่จะมีปัญหาคือร่างอีกฉบับ คือ กฎหมายพรรคการเมืองที่เดิมยังไม่แก้ แต่ไม่แก้ไม่ได้ เพราะในมาตรา 51 (2) เดิมกฎหมายพรรคการเมือง ยังเขียนว่า 150 พอแก้แล้ว พรรคการเมืองตั้งใจว่ากันเลือกตั้งล่วงหน้าหรือไพรมารี่โหวต ไม่สอดคล้องกัน และทำไม่ได้ จึงจะต้องแก้
เมื่อถามย้ำว่า ดังนั้นจึงควรยกเลิกระบบไพรมารีโหวตหรือไม่ นายนิกร ระบุว่า ควรให้มีเป็นกึ่งไพรมารี เหมือนตอนที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. แก้ในครั้งนั้น 1 จังหวัดมี 100 คน ให้ครอบคลุมทั้งจังหวัด
ส่วนจะแก้ทันตามกรอบหรือไม่นั้น นายนิกร ระบุว่า โดยรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในยกร่างว่าต้องไม่เกิน 180 วัน
เมื่อถามว่า กฎหมายโปรดเกล้าฯ ลงมาแล้วจะต้องยุบสภาเลยหรือไม่ นายนิกร ระบุว่า เราแค่ทำกฎหมาย ต้องรอดู เรื่องการยุบสภาเป็นเรื่องของนายกรัฐมนตรีตัดสินใจ
ส่วนจะเสนอร่างประกอบรัฐธรรมนูญได้เมื่อไหร่นั้น นายนิกร ระบุว่า ขณะนี้ทำเกือบเสร็จแล้ว โดยให้ทางฝ่ายกฏหมายดู เดิมไม่คิดว่าจะยื่นให้กกต เป็นผู้พิจารณา แต่ตอนนี้น่าจะขอความเห็นเขาได้ ซึ่งรัฐบาลน่าจะยื่นของตัวเองด้วย ซึ่งกกต.จะเร่งให้ทัน ซึ่งทางกกต.มีการเปลี่ยนแปลงเลขาจึงต้องรอระยะเวลาอีกซักระยะหนึ่ง.-สำนักข่าวไทย