ศาลรัฐธรรมนูญ 17 พ.ย.- กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 กำหนดการจดทะเบียนสมรสเฉพาะชาย-หญิง ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และความเสมอภาค แต่มีข้อเสนอแนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรตรากฎหมายรับรองสิทธิหน้าที่บุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ
ศาลรัฐธรรมนูญได้มีการพิจารณาวินิจฉัยกรณีศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ส่งคำโต้แย้งของ น.ส.พวงเพชร เหงคำ และนางเพิ่มทรัพย์ แซ่อึ๊ง ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ยชพ 1056/2563 ของศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง กรณีขอจดทะเบียนสมรสของบุคคลหลากหลายทางเพศ เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 212 ว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) มาตรา 1448 ที่กำหนดเรื่องการสมรสของชาย-หญิง ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 4 มาตรา 5 มาตรา 25 มาตรา26 และมาตรา 27 หรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา 4 และมาตรา 5 เป็นบททั่วไปที่วางหลักการคุ้มครองเกี่ยวกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์สิทธิเสรีภาพความเสมอภาคของบุคคลและความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญไว้โดยไม่ได้มีข้อความใดที่คุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลไว้เป็นการเฉพาะ ไม่จำต้องวินิจฉัยในส่วนนี้ จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1448 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 25 มาตรา 26 และมาตรา 27 วรรคหนึ่ง วรรคสองและวรรคสาม โดยมีข้อสังเกตว่ารัฐสภาและคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องสมควรดำเนินการตรากฎหมาย เพื่อรองรับสิทธิและหน้าที่ของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีดังกล่าวสืบเนื่องมาจาก น.ส.พวงเพชรและนางเพิ่มทรัพย์ คู่รักซึ่งมีเพศตามทะเบียนราษฎร์เป็นเพศหญิง ได้ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรสเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563 แต่ถูกนายทะเบียนปฏิเสธ ทั้งคู่จึงให้ทนายความยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เพื่อให้ศาลสั่งให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนสมรส หากนายทะเบียนปฏิเสธก็ขอให้ศาลส่งคำโต้แย้งประเด็นข้อกฎหมายไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ที่รองรับการสมรสเฉพาะชาย-หญิงขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ .-สำนักข่าวไทย