จันทบุรี 16 ต.ค.-ปลัดกระทรวงมหาดไทย มอบถุงยังชีพและเยี่ยมเยียนผู้ประสบภัยจังหวัดจันทบุรี เน้นย้ำบูรณาการหน่วยงานในพื้นที่จัดทำข้อมูลเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก
วันนี้ (16 ต.ค. 64) เวลา 08.30 น. ณ ห้องประชุม 4 ศาลากลางจังหวัดจันทบุรี อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมติดตามการแก้ไขปัญหาสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี โดยมี นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี นายอลงกรณ์ แอคะรัจน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดจันทบุรี นายอำเภอทุกอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับ และบรรยายสรุป
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 64 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขสถานการณ์อุทกภัยในจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งทั้ง 2 ท่าน มีความเป็นห่วงพี่น้องประชาชนทุกจังหวัดที่กำลังประสบสาธารณภัยในขณะนี้ โดยในส่วนของจังหวัดจันทบุรี เป็นจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัย ซึ่งมีความน่ากังวล เพราะเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย ดังนั้น จะต้องนำบทเรียนในอดีตมาทบทวนเพื่อนำไปสู่การป้องกันให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก แล้งซ้ำซาก หนาวซ้ำซาก บ้านเรามีวัฏจักรเเบบเจ็บเเล้วไม่จำ เรียกว่า ปล่อยให้เกิดขึ้นซ้ำเเล้วซ้ำอีก จึงเรียกว่า “ซ้ำซาก” ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดที่เราจะช่วยบำรุงขวัญพี่น้องประชาชนที่อำเภอขลุง เเละอำเภอเมืองจันทบุรี คือ ต้องทบทวนระบบการเเจ้งเตือนภัย เพื่อให้พี่น้องประชาชนสามารถหลบเลี่ยงความเสียหายทางทรัพย์สินเเละชีวิต ยกตัวอย่างเช่น กรณีการเเจ้งเตือนของวนอุทยานถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย ที่ไม่ทันท่วงที ส่งผลให้มีเด็กติดอยู่ในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน ดังนั้นจึงต้องมีการเเก้ไขปัญหาที่ระบบ เพื่อให้สามารถจัดการได้ทันสถานการณ์ ซึ่งเรามีระบบแจ้งเตือนในความรับผิดชอบโดยตรง อาทิ มิสเตอร์เตือนภัย หอกระจายข่าวหมู่บ้าน มี อสม. ผู้นำ อช. ผู้แทนสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เรามีตัวแทนอยู่ในทุกชุมชน/หมู่บ้าน เราต้องบูรณาการภารกิจของทุกกระทรวง ทุกกรม เพื่อแก้ปัญหาภยันตรายร่วมกัน ซึ่งในขณะนี้ต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพราะอยู่ในฤดูฝน ซึ่งหลังจากนี้ เราต้องเเก้ปัญหาเชิงระบบ เพื่อเตรียมการรับสถานการณ์ในฤดูหนาว ฤดูร้อน เพื่อเเก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างได้ ซึ่งขณะนี้ถือเป็นโอกาสดีที่ได้เห็นเส้นทางของน้ำ น้ำทะเลหนุน มวลน้ำมาปริมาณมาก ปะทะกันอยู่ในเมือง เเล้วทำให้น้ำท่วม รู้ว่าที่ไหนมีสิ่งกีดขวางน้ำ จุดไหนเสี่ยงดินพังทลาย จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี บูรณาการร่วมกับนายอำเภอ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน ร่วมสำรวจพื้นที่ สิ่งกีดขวาง จุดเสี่ยงภัยและปัญหาที่อาจก่อให้เกิดน้ำท่วม เตรียมข้อมูล เพื่อยื่นเสนอรับจัดสรรงบประมาณกับทางรัฐบาล เพื่อจะได้จัดการกับปัญหาในส่วนที่ต้องใช้งบประมาณ ส่วนไหนที่สามารถทำเองได้ก็ขอให้รีบดำเนินการไปก่อน
โดย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เร่งขนย้ายสิ่งกีดขวางทางน้ำในคลองขลุ ที่อำเภอขลุง ให้เเล้วเสร็จภายใน 7 วัน และประสานให้ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาจันทบุรี พาไปดูจุดที่เกิดปัญหา โดยสั่งการให้เคลื่อนย้ายหินออกจากคลองก่อนโดยเร็ว เพื่อให้น้ำไหลลงสู่ทะเลได้สะดวก ไม่กีดขวางทางน้ำ ทำให้เรือไม่สามารถสัญจรผ่านได้ พร้อมสั่งการให้นายอำเภอขลุง เร่งรัดดำเนินคดีกับผู้ที่นำหินมาทิ้งในคลอง โดยเร่งสืบสวนหาผู้กระทำผิดมาดำเนินดคีโดยเร็ว และให้ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พิจารณาออกข้อบังคับในเรื่องการอนุญาตสิ่งปลูกสร้าง เพื่อแก้ไขปัญหาการระบายน้ำ ใน 2 ประเด็นที่สำคัญ ได้แก่ 1) การพิจารณาไม่อนุญาตให้สร้างบ้านเรือนที่เสี่ยงน้ำท่วม (พื้นบ้านติดกับดิน) และ 2) การถมดินในพื้นที่ ต้องมีเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งขณะนี้ ได้เน้นย้ำสั่งการไปที่ฝ่ายกฎหมายของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ในการยกร่าง กฎหมายที่เกี่ยวกับเรื่องนี้เเล้ว จึงขอให้ท้องถิ่นจังหวัดจันทบุรี เเจ้งและกำกับติดตามการพิจารณาอนุญาตก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย เราไม่ได้ห้ามให้ถมดิน เเต่ให้มีเกณฑ์กลางไว้ใช้ ให้เสมอหรือสูงกว่าถนน โดยให้หารือร่วมกับสำนักงานโยธาธิการเเละผังเมืองจังหวัดจันทบุรี ผลักดันสู่การเป็น “จันทบุรีโมเดล” เพื่อให้เกิดการเเก้ปัญหาเป็นเชิงระบบ
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เน้นย้ำว่า จังหวัดจันทบุรีโชคดีที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานแนวพระราชดำริ คลองภักดีรำไพ (คลองน้ำไหล) เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำหลากกับน้ำทะเลหนุน รวมถึงแก้มลิง (หลุมขนมครก) สระรวม โคก หนอง นา เกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งเป็นแนวทางเพื่อช่วยเเบ่งมวลน้ำไม่ให้ท่วมได้ จึงขอให้ผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น ช่วยกันหาพื้นที่แก้มลิง เพื่อเเบ่งมวลน้ำจากลำน้ำสาขา พื้นที่รอบที่สูงให้มีเเก้มลิง เพื่อช่วยรับน้ำ เป็นการบริหารจัดการที่พึ่งพาตัวเองได้ หรือที่เราเรียกกันว่า “เกษตรทฤษฏีใหม่” ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธานในการสืบสาน รักษา และต่อยอด โดยการพระราชทานภาพฝีพระหัตถ์ “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจ และความหวัง” เพื่อให้คนไทยรู้จักและได้ทำตามแนวพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ให้เข้าใจได้ง่าย เเละนำไปใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งมีจังหวัดตัวอย่างที่น้อมนำ โคก หนองนา โมเดลไปประยุกต์ใช้เเล้วน้ำไม่ท่วม อาทิ จังหวัดสุโขทัย กำเเพงเพชร พิษณุโลก และจังหวัดอุบลราชธานี จึงขอให้จังหวัดจันทบุรี ดำเนินการ เมื่อสำรวจเเล้ว จัดทำแผนเเม่บทชุมชน โดยทุกชุมชนควรมีแผนที่หลุมขนมครก ธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด โดยขุดดินออก เอาหินใส่ เอาสแลนปิดไม้ให้ใบไม้เข้าไปอุดตัน ทำให้มวลของดินโปร่ง เป็นที่เก็บน้ำ เเละธนาคารน้ำใต้ดิน (ป่าไม้) โดยช่วยกันปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง คือ 1) ป่าไม้ใช้สอย 2) ป่าไม้กินได้ อาหาร/ยารักษาโรค 3) ป่าที่ใช้สร้างที่อยู่อาศัย ซึ่งเราจะได้รับประโยชน์อย่างที่ 4 คือ อยู่แล้วร่มเย็น สวยงาม เห็นเเล้วก็มีความสุข สิ่งเหล่านี้จำเป็น ที่สำคัญจะต้องเอาจริงเอาจัง กับการป้องกันและปราบปราม จับกุม ผู้กระทำความผิดด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้ที่เข้าไปทำลายธนาคารน้ำใต้ดิน (ป่าไม้) โดยเฉพาะพื้นที่ภูเขา ขอให้นายอำเภอทุกอำเภอให้ความสำคัญ รวมถึงติดตามผลการดำเนินคดี และความคืบหน้าของคดี โดยประสานการปฏิบัติร่วมกับตำรวจภูธรในพื้นที่ เพราะเป็นต้นเหตุที่ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน ฝนตกไม่ตรงตามฤดู ฝนตกเเล้วทำให้ดินพังทลาย จุดไหนวางเเผนฟื้นฟูปลูกป่าได้ ขอให้ใช้กลไกอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก (อถล.) มาร่วมดำเนินการด้วย
ต่อมาในเวลา 10.00 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย และประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ และคณะ เดินทางไปเยี่ยมเยียนและพบปะพี่น้องประชาชนผู้ประสบภัยในพื้นที่อำเภอขลุง ณ วัดวังสรรพรส ตำบลบ่อ อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ซึ่งได้กล่าวให้กำลังใจพี่น้องประชาชน โดยกล่าวว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงมีความห่วงใยพสกนิกรชาวไทยที่กำลังประสบอุทกภัย โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงครัวพระราชทาน และมีพระราชกระแสให้มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับประชาชนจิตอาสา เข้าให้ความช่วยเหลือประชาชน นอกจากนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา โปรดให้มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนร่วมกับภาครัฐมาโดยตลอด ซึ่งในวันนี้ ผมมีความตั้งใจมาเยี่ยมเยียนให้กำลังใจพ่อแม่พี่น้องประชาชนชาวจังหวัดจันทบุรี และร่วมมอบถุงยังชีพเครื่องอุปโภคบริโภค จำนวน 100 ชุด ซึ่งถือเป็นสิ่งที่พวกเราสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการดำรงชีพขณะกำลังประสบอุทกภัยได้ เป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงว่า คนไทยด้วยกันไม่ทิ้งกัน มีอะไรเดือดร้อนก็มาช่วยกัน นอกจากนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้สั่งการและติดตามพร้อมเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงาน เร่งเข้าให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชน และลงพื้นที่เยี่ยมเยียนให้กำลังใจพี่น้องประชาชนที่ประสบสถานการณ์อุทกภัยอย่างต่อเนื่อง”
จากนั้น ในเวลา 12.15 น. ปลัดกระทรวงมหาดไทย และคณะ ได้เดินทางต่อไปมอบถุงยังชีพให้แก่ผู้แทนหมู่บ้าน/ชุมชน ในพื้นที่อำเภอเมืองจันทบุรี จำนวน 200 ชุด พร้อมพบปะให้กำลังใจพี่น้องประชาชนที่ประสบอุทกภัย โดยกล่าวว่า “ในขณะนี้ ขอให้พ่อแม่พี่น้องประชาชนทุกท่านอย่าได้ประมาท ช่วยกันติดตามข่าวพยากรณ์อากาศ รับฟังข้อมูลข่าวสารจากภาครัฐ ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผ่านทางหอกระจายข่าว ทีวี และขณะเดียวกัน ต้องดูแลตนเองให้ปลอดภัยจากโรคภัยไข้เจ็บที่จะมากับน้ำท่วมและภัยจากอุบัติเหตุ เช่น ดื่มเหล้าจนเมาแล้ววูบจมน้ำ โรคไข้หวัด อุจจาระร่วง โรคผิวหนัง ไฟฟ้าช็อตเนื่องจากน้ำท่วมถึงบริเวณปลั๊กไฟ เป็นต้น ต้องระมัดระวังความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และรักษาสุขอนามัย สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ และช่วยกันรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้เพื่อนบ้านในชุมชน อย่าประมาท และหากต้องการขอรับความช่วยเหลือจากสถานการณ์อุทกภัย ให้ติดต่อสายด่วนนิรภัย 1784 หากเจ็บไข้ได้ป่วยกระทันหันหรือเจอคนประสบอุบัติเหตุ โทร. 1669 และหากมีเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจ ถูกทวงหนี้ไม่เป็นไปตามกฎหมาย โทร. 1567 ศูนย์ดำรงธรรม เพื่อเจ้าหน้าที่เข้าให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที และขอเป็นกำลังใจให้กับพี่น้องประชาชนอีกครั้งหนึ่ง ขอให้ทุกท่านมีความสุข สุขภาพแข็งแรง คิดหวังสิ่งใดให้สมความปรารถนา รอดปลอดภัยจากภัยน้ำท่วมโดยเร็ววัน และต้องระลึกเสมอว่า “เราคนไทยไม่ทิ้งกัน เราคนไทยจะช่วยเหลือกัน เราคนไทยจะดูแลซึ่งกันและกัน” ตลอดไป
ด้าน นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า จังหวัดจันทบุรี ได้รับผลกระทบจากร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านภาคตะวันออก และได้รับอิทธิพลจากพายุโซนร้อน “ไลออนร็อก” และพายุโซนร้อน “คมปาซุ” ทำให้มีฝนตกต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2564 และได้ตกหนักสะสมตั้งเเต่วันที่ 12 ตุลาคม 2564 เวลา 21.00 น. จนถึงวันที่ 13 ตุลาคม 2564 เวลา 03.00 น. และได้มีน้ำทะเลหนุนทำให้เกิดมวลน้ำสะสมจำนวนมากตามลำน้ำสาขาเข้าท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่ของจังหวัดจันทบุรี โดยมีพื้นที่ได้รับผลกระทบรวมทั้งสิ้น 6 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองจันทบุรี อ.ขลุง อ.ท่าใหม่ อ.มะขาม อ.แหลมสิงห์ และอ.เขาคิชกูฏ รวม 46 ตำบล 254 หมู่บ้าน 11 ชุมชน มีประชาชนได้รับความเดือดร้อนมากกว่า 10,000 ครัวเรือน (กว่า 27,000 คน)
สุดท้าย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอชื่นชมการบริหารจัดการสถานการณ์น้ำท่วมของจังหวัดจันทบุรี ซึ่งนับว่ามีแผนการเผชิญเหตุที่ดี และการฟื้นฟูเหตุที่ดีมาก ขอให้เตรียมเเผนเผชิญเหตุ โดยให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทราบหน้าที่ของตนเอง ทั้งก่อนเกิดภัย ระหว่างเกิดภัย เเละหลังเกิดภัย โดยดำเนินการควบคู่ไปกับการสำรวจพื้นที่จุดอ่อน จุดเสี่ยง เพื่อเร่งดำเนินการจัดทำคำของบประมาณกับทางรัฐบาล เพื่อเเก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนโดยเร็ว ขอให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติยึดมั่นและปฏิบัติตามอุดมการณ์ อย่าท้อ แม้ว่าเงินเดือนไม่มากเท่าเอกชน เเต่สามารถทำให้เรามีงานที่มั่นคงได้ ขอให้ยึดว่าเราทำงานเพื่อพี่น้องประชาชน เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข พี่น้องประชาชน ให้เกิดความสุข อย่างยั่งยืน.-สำนักข่าวไทย