กทม. 19 มิ.ย.- ปชป. ไม่หนักใจ พปชร.ตั้ง “ธรรมนัส” นั่งเลขาฯ ดูแลเลือกตั้ง เชื่อไม่กระทบการหาเสียงของพรรค พร้อมเข้าสู่สนาม หากมียุบสภา
นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ประชุมใหญ่พรรคพลังประชารัฐ มีมติให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นั่งเป็นเลขาธิการพรรค ว่าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ขอก้าวล่วง เพราะถือเป็นมติของพรรคพลังประชารัฐ ขณะเดียวกันไม่กังวลเรื่องของการหาเสียงในพื้นที่ต่างๆ ส่วนที่ ร.อ.ธรรมนัส ก็กำกับดูแลเรื่องการเลือกตั้งของพรรคพลังประชารัฐในหลายพื้นที่อยู่แล้ว ก็เชื่อว่าจะไม่เป็นปัญหาในการหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ก็จะขอสู้ตามระบอบประชาธิปไตย เพราะการทำงานทางการเมืองที่พัฒนาแล้ว ก็จะต้องทำแบบตรงไปตรงมา และยังไม่สามารถตอบได้ว่ามีกระแสข่าวการดูด ส.ส.จากพรรคประชาธิปัตย์ไปอยู่กับพลังประชารัฐ
นายราเมศ กล่าวว่าหากมีการยุบสภาเกิดขึ้น พรรคประชาธิปัตย์ ก็พร้อมที่จะเข้าสู่กระบวนการทันที เนื่องจากที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ นำโดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ หัวหน้าพรรค ได้ลงพื้นที่รับฟังปัญหาของประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมมาปรับเป็นนโยบาย ประกอบกับการดำเนินการในฐานะรัฐมนตรี ที่ผ่านมา ก็ผลักดันนโยบายหลายด้านจนเกิดผล
นายราเมศ ยังกล่าวถึงการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะเข้าสู่ที่ประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 22-24 นี้ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา ร่วมกันยื่นให้ประธานรัฐสภาไปแล้วจำนวน 8 ร่าง ซึ่งในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์นั้นในวันที่ 20 มิ.ย.นี้ เวลา 13.30 น. จะมีการประชุมคณะกรรมการ ด้านกฎหมายของพรรค ที่มีนายถวิล ไพรสณฑ์ ประธานคณะกรรมการกฎหมาย เป็นประธานเพื่อจัดเตรียมข้อมูลเกี่ยวรัฐธรรนูญให้ ส.ส. นำไปอภิปราย และในวันที่ 21 มิ.ย.เวลา 13.30 น. จะมีการประชุม ส.ส.พรรคเตรียมความพร้อมอีกครั้งพร้อมกันนี้ยังเรียกร้องให้ ส.ว.อย่าตั้งหลักว่าจะไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมสักฉบับ หรือไม่เห็นชอบฉบับใดฉบับหนึ่ง ทั้งที่ยังไม่ได้ฟังรายละเอียดและสาระสำคัญจึงขอให้ฟังเสียงประชาชนก่อนว่าได้ประโยชน์มากน้อยแค่ไหน และประชาชนเรียกร้องให้มีการแก้ส่วนใดบ้าง เมื่อรับรู้ข้อมูลครบถ้วนแล้ว เชื่อว่าจะเปลี่ยนใจสมาชิกรัฐสภาได้
ส่วนกรณีที่ นายกรณ์ จาติกวินิช หัวหน้าพรรคกล้า ออกมาท้า พรรคประชาธิปัตย์ ให้คว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับพรรคพลังประชารัฐ นั้น นายราเมศ มองว่า เป็นการพูดเรื่องอนาคตมากเกินไป เพราะการที่จะให้สมาชิกรัฐสภาตัดสินใจ ต้องฟังด้วยเหตุผลและประโยชน์ เมื่อฟังแล้วก็เป็นอำนาจของสมาชิกรัฐสภา ที่จะวิเคราะห์ว่าจะรับร่างฉบับใดบ้าง หากร่างของพรรคพลังประชารัฐออกมาแล้วอีกพรรคหนึ่งพูดด้วยความสะใจ ทั้งที่ยังไม่ผ่านขั้นตอนวาระแรกเลย ก็ไม่ถูกต้อง.-สำนักข่าวไทย