กรุงเทพฯ 11 เม.ย. – กสม.เผยแพร่รายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ปี 2563 โดยประเมินสถานการณ์การชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองในไทย
วันนี้ (11 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้เผยแพร่รายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ปี 2563 โดยในการประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในสถานการณ์เฉพาะเกี่ยวกับสถานการณ์การชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน โดยระบุว่า สำหรับสถานการณ์การชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองจากการติดตามและเฝ้าระวัง พบว่าไม่มีเหตุการณ์รุนแรง แม้จะมีการกระทบกระทั่งกันอยู่บ้างระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลความสงบเรียบร้อยในบางกรณี แต่ทั้งสองฝ่ายพยายามใช้ความอดทนอดกลั้น เพื่อไม่ให้มีความรุนแรงเกิดขึ้น อย่างไรก็ดี มีการชุมนุม 2 กรณี ที่บริเวณแยกปทุมวัน และหน้ารัฐสภา ที่รัฐใช้มาตรการยุติการชุมนุมโดยการฉีดน้ำแรงดันสูง ซึ่งมีการผสมสารเคมีเข้าใส่ผู้ชุมนุม โดยเฉพาะการชุมนุมเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ที่แยกปทุมวัน ซึ่ง กสม.เห็นว่ายังไม่ปรากฏลักษณะที่แสดงให้เห็นถึงการใช้ความรุนแรงจนถึงขั้นต้องใช้มาตรการสลายการชุมนุม การฉีดน้ำผสมสารเคมีจึงเป็นการกระทำที่เกินสมควรแก่เหตุ
อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมรัฐยังคงทำหน้าที่ดูแลการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบของประชาชน โดยไม่ได้แทรกแซงการใช้เสรีภาพดังกล่าว แม้ในบางกรณีผู้จัดการชุมนุมไม่ได้แจ้งการชุมนุม ตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 แต่การชุมนุมยังคงดำเนินต่อไปได้ ในส่วนของการกระทำผิดระหว่างการชุมนุม เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการแจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้ชุมนุม และออกหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา ซึ่งหลังจากสอบปากคำ ผู้ชุมนุมจะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างดำเนินคดี ซึ่งสอดคล้องกับพันธกรณีของไทยตามกติกา ICCPR แต่พบปัญหาอุปสรรคการจำกัดการแสดงความคิดเห็น และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ โดยพบว่า เดือน ก.ค.-ธ.ค.63 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้บูรณาการการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานและยื่นคำขอให้ศาลมีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ เป็นจำนวน 50 คำสั่งศาล 1,145 URLs การกระทำดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น หรือการเข้าถึงข้อมูลของประชาชนที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญ
นอกจากนั้น การใช้คำพูดที่สร้างความเกลียดชัง (hate speech) ท่ามกลางสถานการณ์ที่มีความแตกต่างทางความคิดเห็น การใช้วาจาสร้างความเกลียดชังต่อฝ่ายที่มีความเห็นตรงข้าม ปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงภาพวาดการ์ตูนล้อเลียน ภาพถ่าย คลิปวิดีโอ ทั้งนี้ อาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรง และอาจลุกลามบานปลายได้ โดยเฉพาะในสื่อออนไลน์ มีผู้นำเนื้อหาที่มีระดับความรุนแรงและลักษณะการสื่อสารความเกลียดชังไปเผยแพร่ในวงกว้าง อาจทำลายวัฒนธรรมแห่งการเคารพซึ่งกันและกัน คุกคามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ นำไปสู่การทำลายบรรยากาศแห่งการใช้เสรีภาพในการแสดงออกของบุคคล รวมทั้งกรณีการชุมนุมเพื่อแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่ผ่านมาหลายครั้ง ผู้ชุมนุมนัดรวมตัวที่สถานีรถไฟฟ้า ส่งผลให้มีการปิดสถานีรถไฟฟ้าชั่วคราว เพื่อความปลอดภัยของประชาชนทุกคน และพบว่ามีการทำลายทรัพย์สินเสียหาย. – สำนักข่าวไทย