กรุงเทพฯ 9 เม.ย. – รมว.อุดมศึกษาฯ ยืนยันพร้อมจัดตั้งโรงพยาบาลสนามทุกมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ รพ.ธรรมศาสตร์ฯ ประกาศเปิดรอบใหม่ เพิ่มความจุเป็น 470 เตียง พร้อมรับคนไข้ 11 เม.ย.นี้
นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวในงานแถลงข่าว “การเปิดโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ 470 เตียง” ซึ่งจัดขึ้นโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ร่วมกับโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เมื่อวันที่ 9 เม.ย.64 ตอนหนึ่งว่า อว.มีสรรพกำลังด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่พร้อมสนับสนุนรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ฟันฝ่าโควิด-19 ระลอกใหม่ได้อย่างเต็มที่ ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ
ทั้งนี้ ความจำเป็นเฉพาะหน้า คือ การจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม เพื่อรองรับผู้ป่วย ภายหลังพบว่าสมรรถนะของโรงพยาบาลเอกชนในปัจจุบันถึงขีดสุด ไม่สามารถเดินต่อไปได้แล้ว จึงได้หารือกับนายสุรพล นิติไกรพจน์ ประธานกรรมการบริหารโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งพบว่า มธ.ก็เตรียมพร้อมเรื่องนี้อยู่แล้ว จึงมีกำหนดจะเปิด “โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ ขนาด 470 เตียง” ในวันอาทิตย์ที่ 11 เม.ย.64 นี้
นายเอนก กล่าวว่า นอกจากโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์แล้ว อว.ยังมีโรงพยาบาลสนามของคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งตั้งอยู่ที่สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ อีก 400 เตียง นั่นหมายความว่า ภายในระยะเวลาอันใกล้นี้ อว.จะมีโรงพยาบาลสนามทั้งสิ้น 870 เตียง
นายเอนก กล่าวว่า ขณะเดียวกัน อว.มีโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ทั่วประเทศอีก 22 แห่ง ซึ่งมีความพร้อมทั้งปริมาณและคุณภาพในแง่ของสถานที่และบุคลากร รวมไปถึงมีมหาวิทยาลัยอีกทุกจังหวัด ที่พร้อมจัดตั้งเป็นโรงพยาบาลสนามได้โดยทันที ยืนยันว่า อว.มีความพร้อมเป็นกำลังหนุนเสริม สธ. และรัฐบาล จึงอยากให้ประชาชนมีความมั่นใจ อย่าตระหนก อย่าแตกตื่น แต่ให้ตระหนักและเข้มงวดต่อตัวเองและครอบครัว เพื่อไม่ให้ตัวเองไปอยู่ในความเสี่ยง
ด้านนายสุรพล นิติไกรพจน์ ประธานกรรมการบริหารโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า ที่จริงแล้วระบบสาธารณสุขไทยเป็นระบบที่ดีมาก ได้รับการยอมรับในระดับสูง แต่จากการเกิดการระบาดโควิด-19 ในกรุงเทพมหานคร (กทม.) อย่างรวดเร็ว มีผู้ป่วยเพิ่มถึงวันละ 200-300 คน ทำให้เกิดปัญหาเฉพาะหน้าขึ้นมา ซึ่งยืนยันว่าโดยปกติแล้วโรงพยาบาลมีเตียงเหลือเพียงพอ แต่เหตุผลที่โรงพยาบาลรับผู้ป่วยไม่ได้ เนื่องจากในโรงพยาบาลมีผู้ป่วยอื่นอยู่จำนวนมาก และผู้ป่วยโควิด-19 เป็นผู้ป่วยที่ติดต่อง่าย นั่นทำให้ทุกโรงพยาบาลจัดวอร์ดสำหรับโควิด-19 เอาไว้เพียง 1-2 วอร์ด หรือ 20-40 เตียงเท่านั้น ฉะนั้นเมื่อเกิดการติดเชื้อวันละ 200 คน จึงเกิดเป็นภาวะผู้ป่วยล้นโรงพยาบาลอย่างรวดเร็ว
“ไม่ได้หมายความว่าเราไม่มีเตียง แต่สถานการณ์ คือ วอร์ดโควิด-19 เต็ม เมื่อกติกาของ สธ. คือ ตรวจที่ไหนที่นั่นต้องรับผู้ป่วย จึงทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อมาของโรงพยาบาลเอกชน นั่นคือเมื่อเตียงเต็มแล้วก็ต้องไม่ตรวจ ซึ่งจริงๆ แล้วน้ำยาไม่ได้หมด เพียงแต่โรงพยาบาลเอกชนถูกบังคับโดยสถานการณ์ คือ จำนวนเตียงที่ถูกควบคุมโดยความดันอากาศและแยกออกจากวอร์ดอื่นมีจำนวนน้อยมาก และไม่สามารถเพิ่มได้” นายสุรพล กล่าว
นายสุรพล กล่าวว่า หากผู้ป่วยในอัตรานี้กระจายอยู่ทั่วประเทศจะไม่เกิดปัญหา แต่เมื่อกระจุกอยู่ใน กทม.เพียงแห่งเดียว จึงเกิดปัญหาเฉพาะหน้าขึ้น โดยในช่วง 1-2 สัปดาห์ต่อจากนี้ จะเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของโควิด-19 ระลอก 3 และความเชื่อมั่นของระบบสาธารณสุข นั่นทำให้โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ตัดสินใจเปิด “โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์” ในเช้าวันที่ 11 เม.ย.นี้ โดยคาดว่าจำนวน 470 เตียง จะเต็มภายใน 2 สัปดาห์
นางเกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี มธ. กล่าวว่า ทุกวิกฤตที่เกิดขึ้นในประเทศไทย มธ.ถือเป็นภาระหน้าที่ที่จะต้องเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการให้ความช่วยเหลือ ดูแล เยียวยา เพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายลง ฉะนั้นแม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการทำพิธีปิดโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ไปแล้ว หลังผ่านพ้นการระบาดในระลอกที่ 1 และ 2 แต่เมื่อเกิดการระบาดระลอกใหม่ขึ้นมา มธ. และโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ จึงพร้อมที่จะเปิดโรงพยาบาลสนามอีกครั้ง โดยครั้งนี้ได้ขยายจาก 308 เตียง เป็น 470 เตียง และมีความเป็นไปได้ที่จะขยายถึง 500 เตียง
“ถ้าประชาชนมีความต้องการ ธรรมศาสตร์ยินดีตอบสนอง ซึ่งนอกจากโรงพยาบาลสนามแล้ว เรายังให้ความสำคัญต่อการใช้องค์ความรู้ งานวิจัย รวมถึงทรัพยากรต่างๆ ของมหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนานวัตกรรมต่างๆ สำหรับดูแลประชาชนในสถานการณ์วิกฤตด้วย” นางเกศินี กล่าว. – สำนักข่าวไทย