กรุงเทพฯ 17 มี.ค.-“วิษณุ” เปิดอบรมผู้ตรวจราชการระดับกระทรวง เตรียมตั้งสถาบันผู้ตรวจราชการให้เกิดการทำงานแบบบูรณาการ มีตำแหน่งบริหารเท่าซี11 ด้านปลัดสำนักนายกฯ คาด ไม่เกิน 2 เดือนโครงสร้างชัดเจน
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย เป็นประธานเปิดการฝึกอบรมหลักสูตรผู้ตรวจราชการระดับกระทรวง ประจำปี 2564 เน้นการเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นให้กับผู้ตรวจราชการระดับกระทรวง ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดย นายวิษณุ กล่าวว่า ในอดีตตำแหน่งผู้ตรวจราชการมีความสำคัญ เนื่องจากเป็นตำแหน่ง หลวงยกกระบัติ ซึ่งต้องตรวจงานแทนพระเจ้าอยู่หัว ส่วนใหญ่จะคัดเลือกผู้ที่มีความรู้ด้านกฎหมาย และต้องออกรบด้วย แต่ปัจจุบันผู้ตรวจราชการ โดยทางราชการทหารและตำรวจ จะเรียกว่าตำแหน่งจเรคือตำแหน่งจร ต้องตรวจงานราชการต่าง ๆ ส่วนในฝ่ายพลเรือน เป็นการทำงานแบบไปตรวจราชการและกลับมารายงาน แต่ไม่มีอำนาจแก้ใขปัญหา ซึ่งมีความต่างจากผู้ตรวจการแผ่นดินที่เป็นองค์กรอิสระที่มีอำนาจแก้ใขปัญหา
“ผู้ตรวจการแผ่นดินควรต้องทำงานร่วมกับผู้ตรวจราชการ ซึ่งจะทำให้ผู้ตรวจราชการมีความสำคัญในการทำงานมากขึ้น โดยเฉพาะการขับเคลื่อนภารกิจของรัฐบาลให้บรรลุเป้าหมายและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ขอให้ผู้ตรวจราชการมีความรู้ด้านยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้าน และแผนการปฎิรูประเทศ 13 ด้านในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานของตัวเองและเป็นไปตามนโยบายรัฐบาล” นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ กล่าวว่า เตรียมจัดตั้งสถาบันผู้ตรวจราชการ เพื่อให้เกิดการทำงานแบบบูรณาการ โดยจะจัดทำหลักสูตรสำหรับผู้ตรวจราชการ ซึ่งจะทำให้ผู้ตรวจราชการที่ดีต้องมีหน้าที่ที่ไม่เคยทำมาก่อน อาทิ การสอบวินัยข้าราชการ ให้สามารถดำเนินการได้ถูกต้องมากขึ้น โดยสถาบันผู้ตรวจราชการจะเน้นการอบรมและให้คำชี้แนะการตรวจราชการ เพื่อให้นำไปสู่การปฏิบัติได้มากขึ้น นอกจากนี้จะเสนอให้ผู้ตรวจราชการมีตำแหน่งบริหารระดับสูง หรือ ซี11 ซึ่งเท่ากับปลัดกระทรวงและให้ปลัดกระทรวงที่มีตำแหน่ง ซี 11 แล้ว สามารถต่ออายุราชการได้และมาดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการได้เช่นกัน
นาย ธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การทำงานของผู้ตรวจราชการกระทรวงจะเน้นการขับเคลื่อน และติดตามงาน งานที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย โดยผู้ตรวจราชการกระทรวงต้องบูรณาการงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ส่วนเรื่องการจัดตั้งสถาบันผู้ตรวจราชการ ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการจัดทำโครงสร้าง คาดว่า ไม่เกิน 2 เดือนจะเป็นรูปธรรมมากขึ้น พร้อมกันนี้ขอให้ผู้ตรวจราชการและผู้ช่วยผู้ตรวจราชการดำเนินงานตามแนวทางตรวจราชการของสำนักนายกรัฐมนตรี รวมถึงนโยบายหลักของรัฐบาล อาทิ การสร้างมูลค่าสินค้าทางการเกษตร การจัดที่ดินทำกิน การจัดทำประมวลกฎหมาย และการตรวจแก้ไขปัญหาแม่น้ำโขง
ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปี 2564 นายกรัฐมนตรีเห็นชอบแผนบูรณาการติดตามโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสังคมหลังช่วง covid-19 โดยเฉพาะการติดตามประโยชน์จากการใช้งบประมาณ การตรวจสอบที่ดินทำกิน รวมถึงการจัดสรรที่ดินของรัฐให้ประชาชนใช้ประโยชน์ในระยะยาว การสร้างอาชีพ ด้านมลพิษทางอากาศ หลักความปลอดภัยทางถนนเพื่อลดการบาดเจ็บ การเสียชีวิต การพิการจากอุบัติเหตุทางถนนซึ่งมีผู้เสียชีวิตมากกว่าผู้ป่วย covid 19
“ส่วนประชาชน หากพบปัญหาสามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วน 1111 ซึ่งการดำเนินการของสายด่วน 1111 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 ถึงปัจจุบันมีสถิติรับเรื่องราวร้องทุกข์กว่า 40,000 เรื่อง โดยร้อยละ 90 สามารถแก้ไขปัญหาได้ ส่วนเรื่องของโรคโควิด 19 มีการร้องทุกข์กว่า 600,000 เรื่อง โดยนายกรัฐมนตรีได้นำเรื่องราวต่าง ๆ ไปหารือกับศบค. และบางเรื่องได้นำไปเป็นนโยบายในการฟื้นฟูเศรษฐกิจแล้ว” นาย ธีรภัทร กล่าว.-สำนักข่าวไทย