ทำเนียบรัฐบาล 3 มี.ค.-โฆษก ศบค.เผยยอดติดเชื้อใหม่ 35 ราย รับมีบุคลากรทางการแพทย์มีประวัติแพ้เพนนิซิลินเกิดอาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีน แต่ช่วยเหลือทัน
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด 19 วันนี้(3 มี.ค.) ว่า เพิ่มขึ้น 35 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 26,108 ราย หายป่วยแล้ว 25,483 ราย รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล 541 ราย ผู้เสียสะสมรวม 83 คน ผู้ป่วยยืนยันสะสมระลอกใหม่ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2563 – 3 มีนาคม 2564 จำนวน 21,871 ราย โดยผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น 35 ราย เป็นผู้ที่ติดเชื้อในประเทศ 25 ราย เป็นผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและบริการ 17 ราย จากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 8 ราย เป็นผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศ 10 ราย จากตุรกี 1 ราย กานา 2 ราย เคนยา 1 ราย ไนจีเรีย 2 รายและเมียนมา 4 ราย
โฆษกศบค. กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อทั่วโลก 115 ราย เสียชีวิตสะสม 2.56 ล้านคน ผู้ติดเชื้อมากที่สุดอยู่ที่สหรัฐอเมริกา 29 ล้านราย ตามด้วยอินเดีย 11 ล้านราย บราซิล 10.6 ล้านราย รัสเซีย 4.26 ล้านราย สหราชอาณาจักร 4.18 ล้านราย ขณะที่ประเทศไทย ยังอยู่ในอันดับที่ 114
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ส่วนสถานการณ์ผู้ติดเชื้อที่เชื่อมโยงจากจังหวัดปทุมธานี จำนวน 676 ราย กระจายอยู่ใน 13 จังหวัด โดยวางแผนการค้นหาเชิงรุก ในสถานที่ต่าง ๆ ตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2563 ถึง 25 กุมภาพันธ์ 2564 ไม่ว่าจะเป็นตลาด โรงงาน หอพัก และบริษัทก่อสร้าง รวม 34,573 ราย ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 36 ปี ซึ่งเป็นวัยทำงาน
“ที่ประชุมศบค.ชุดเล็ก ช่วงเช้า(3 มี.ค.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีน โดยจะต้องมีความเท่าเทียม ให้บริการประชาชนอย่างแท้จริง ยอมรับว่าบางรายมีรายงานผลข้างเคียง เนื่องจากมีประวัติแพ้ยาเพนนิซิลิน ทำให้เกิดอาการแพ้วัคซีน แต่เนื่องจากเป็นบุคลากรทางการแพทย์ จึงให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที” โฆษกศบค. กล่าว
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ที่ประชุมศบค.หารือเรื่องการสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หลังจากสถานการณ์ภาพรวมที่สามารถควบคุมได้ และวัคซีนเข้ามาอย่างต่อเนื่องแล้ว สิ่งสำคัญภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ ผู้จัดกิจกรรม จะต้องมีความรู้ความเข้าใจในมาตรการต่าง ๆ ส่วนระบบ state quarantine โดยเฉพาะ alternative state quarantine (ASQ) ยังมีความต้องการอยู่มาก แม้จะเสียค่าใช้จ่ายเอง ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของประเทศไทย ในอนาคตอาจต่อยอดสำหรับผู้ที่เดินทางเข้าออกประเทศต่อไป
“แม้ว่าสถานการณ์เริ่มผ่อนคลายลงแล้ว แต่ขอให้ทุกคนใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง ล้างมือบ่อย ๆ สวมหน้ากากตลอดเวลา จะช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้” โฆษกศบค. กล่าว.-สำนักข่าวไทย