ทำเนียบ 19 ส.ค.- ศบค. เตรียมลดบทบาทตุลาคมนี้ หลังปรับโควิดไปสู่เฝ้าระวัง ระบุยังไม่คุยยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ขอรอดูสถานการณ์ก่อน
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงภายหลังการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ว่าอธิบดีกรมควบคุมโรค รายงานความคืบหน้าในการจัดทำกรอบนโยบายแนวทางปฏิบัติและช่วงเวลาดำเนินการในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ภาวะ Post-Pandemic เพื่อการเฝ้าระวังและป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 และมีการนำเสนอในหลักการความคิดใน 2 เรื่อง คือการประเมินสถานการณ์ และความเสี่ยงด้านการป้องกัน ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ประเด็น คือ 1. ทั่วโลกยังมีการเพิ่มจำนวนของการติดเชื้อโควิด-19 ภายหลังจากที่มีการระบาดโอมิครอน BA 4.5 ระบาด เนื่องจากการกลายพันธุ์ที่รวดเร็ว แต่จำนวนผู้ที่มีอาการรุนแรงและเสียชีวิตไม่สูงมากเมื่อเทียบกับช่วงการระบาดของโอไมครอนสายพันธุ์ BA1.2 และเดลตา
2.ผลการสำรวจภูมิต้านทานในประชาชนไทยเมื่อเดือน เม.ย.-พ.ค.2565 พบว่าประชาชนมากกว่าร้อยละ 90 ตรวจพบภูมิต้านทาน 3.ข้อมูลศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนใช้จริงในไทย พบว่าการฉีด 3 เข็มขึ้นไปในทุกสูตร สามารถป้องกันการป่วยรุนแรงและการเสียชีวิตสูงมากกว่า 90% และต่อเนื่องได้ไม่น้อยกว่า 6 เดือน แต่ป้องกันการติดเชื้อได้ต่ำ และ 4.คาดการณ์ว่าโควิด-19 จะมีลักษณะการเกิดโรคในประชากรจะคล้ายคลึงกับการระบาดของไข้หวัดใหญ่ ซึ่งจะพบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี แต่อาจมีการระบาดในบางช่วงเวลา โดยการป่วยที่รุนแรงเสียชีวิตส่วนใหญ่ จะเกิดกับกลุ่มที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน และกลุ่มผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคร่วมที่รับวัคซีนไม่ครบ
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีก 2 ด้านการรักษาการประเมินสถานการณ์ และความเสี่ยงจากการประเมินอาการผู้ป่วยมีแนวโน้มไม่รุนแรง ยกเว้นในกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรครุนแรง การใช้ยาต้านไวรัส ควรใช้เฉพาะกลุ่มที่มีอาการ หรือมีปัจจัยเสี่ยงต่ออาการรุนแรง การจัดบริการด้านการรักษาพยาบาล โดยพิจารณาอาการผู้ป่วย ถ้าไม่มีอาการ ให้แยกกักที่บ้าน ถ้ามีอาการอื่นๆ จากโรคประจำตัว หรือระดับออกซิเจนในเลือดต่ำกว่า 94% ให้รับไว้ที่โรงพยาบาล และระยะเวลาในการกักตัว ในกรณีที่ไม่มีอาการหรืออาการเพียงเล็กน้อยให้แยกกักหลังตรวจพบอย่างน้อย 5 วัน ไม่จำเป็นต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาล จากนั้นให้ปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัดอย่างน้อยอีก 5 วัน
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า แนวทางปฏิบัติไม่ได้แตกต่างไปจากเดิม จากแนวทางปฏิบัติยังคงจะใช้วิธีการที่ทำมา และยังมีความจำเป็นจะต้องใช้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพฯ จัดทำแผน และสื่อสารสถานการณ์ให้ประชาชนได้รับทราบหากมีการระบาดผิดปกติกลับขึ้นมาอีก
ทั้งนี้ ที่ประชุม ศบค.รับทราบกรอบแนวปฏิบัติด้านต่างๆ ตามห้วงเวลา โดยในเดือนสิงหาคม ยังคงสถานการณ์ฉุกเฉิน โดย ศบค.มีบทบาท เดือนกันยายนคงสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ปรับเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง โดย ศบค.และคณะกรรมการโรคติดต่อชาติ มีบทบาท และในเดือนตุลาคม จะประกาศเป็นโรคระบาดเฉพาะพื้นที่เมื่อมีเหตุการณ์จำเป็น โดยบทบาทของ ศบค.จะลดลง เปลี่ยนมาให้ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (อีโอซี) กระทรวงสาธารณสุข และคณะกรรมการโรคติดต่อชาติคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพฯ จะเข้ามามีบทบาทนำไปสู่การทำงาน ส่วนช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม ประกาศโรคระบาดเฉพาะพื้นที่เมื่อมีเหตุการณ์จำเป็น โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพฯ มีบทบาท
นพ.ทวีศิลป์ ยังกล่าวว่าในที่ประชุมยังไม่ได้มีการพูดคุยกันว่า เราจะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือไม่ เพราะจะต้องมีการประเมินกันต่อ ยังมีเวลาที่ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถึงเดือนกันยายนนี้ จึงขอรอดูสถานการณ์ต่อไปอีกระยะ ยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนอะไร และขณะนี้ยังพิจารณาเกณฑ์ผู้ติดเชื้อเป็นระดับสีเขียว เหลือง แดง หากทุกคนต้องการให้มีการผ่อนปรนหลักเกณฑ์เหล่านี้ ก็ต้องคงสภาพการติดเชื้อและผู้เสียชีวิตให้ได้ในระดับสีเขียว เพื่อได้จะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่าน ทั้งนี้ที่ประชุม ศบค.บอกให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือ กทม.จัดทำแผน เปลี่ยนผ่านให้สอดคล้องในระหว่างที่ยังมี ศบค.อยู่ ก็ต้องประเมินความเข้มแข็ง และกระตุ้นให้ประชาชนเข้ารับวัคซีนไปจนถึงเข็มกระตุ้นด้วย
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า ในปัจจุบันยังมีข่าวดีเกี่ยวกับความก้าวหน้าการวิจัยและพัฒนาวัคซีนในประเทศ โดยวัคซีนที่พัฒนาโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และขององค์การเภสัชกรรม มีความก้าวหน้าและเตรียมขึ้นทะเบียนในปี 66 และ 67 ตามลำดับ อาทิ Chula-Cov19, BaiyaSARS-Cov-2VaX, NDV-HP-F ขณะที่การฉีดวัคซีนในประเทศไทย มีการฉีดไปแล้วทั้งสิ้นกว่า 142 ล้านโดส มีอาการไม่พึงประสงค์ เสียชีวิตเพียง 6 คน ถือว่าน้อยมาก และถ้าดูยอดผู้เสียชีวิตในกลุ่ม 608 ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ค.65 มีทั้งสิ้น 9,373 ราย ในจำนวนนี้มีถึง 5,260 ราย ที่ไม่ได้รับวัคซีน จึงอยากเชิญชวนประชาชนให้ไปฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เพราะข้อมูลยืนยันแล้วว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นโอกาสป่วยหนักและเสียชีวิตต่ำ และขณะนี้ในประเทศไทยมีวัคซีนคงคลังรวมแล้ว 8 ล้านโดส ถือว่ามีความเพียงพอในการฉีดให้กับประชาชน .- สำนักข่าวไทย