รัฐสภา 3 พ.ย.- “สมชาย” หนุนรูปแบบกรรมการสมานฉันท์ 7 ฝ่าย ให้ทุกฝ่ายหาทางออกร่วมกัน ไม่ฟันธง ส.ว. รับหลักการแก้ไข ม.256 ด้าน “คำนูณ” หนุน “ชวน” นั่งประธาน
นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงโครงสร้างคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ โดยสนับสนุนให้ใช้รูปแบบที่ 1 คือคณะกรรมการที่ประกอบด้วยทุกฝ่ายรวม 7 ฝ่าย เพื่อเปิดให้ทุกฝ่ายพูดคุยกันได้ รวมถึงตัวแทนผู้ชุมนุม ฝ่ายเห็นต่างกับผู้ชุมนุม และนักวิชาการทุกแนวคิด ซึ่งบางเรื่องต้องเป็นการพูดคุยกันภายใน เพราะการเจรจาผ่านการถ่ายทอดสดเหมือนปี 2553 ไม่สำเร็จ
ส่วนรูปแบบที่ 2 คือรูปแบบคณะกรรมการจากคนนอกนั้น ก็เป็นอีกรูปแบบที่มีความเป็นไปได้ แต่ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการชุดนายคณิต ณ นคร หรือชุดนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน ที่เป็นคณะกรรมการจากคนนอกทั้งหมด แม้มีรายงานผลสรุปที่ดี แต่ถูกเลือกใช้แค่บางประเด็นเท่านั้น เพราะไม่สามารถผูกมัดเป็นฉันทามติให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามได้
นายสมชาย กล่าวถึงกรณีที่บางฝ่ายระบุจะต้องมีการหารือกันเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ในคณะกรรมการชุดนี้ ว่า หากจะพูดในเวทีวิชาการสามารถทำได้ แต่ส่วนตัวไม่เห็นด้วย เพราะหลายเรื่องที่จำเป็นต้องปฏิรูป ทั้งการเมือง การยุติธรรม การศึกษา ก็ยังไม่มีการปฏิรูป ซึ่งตนเห็นด้วยกับข้อเสนอหลายอย่างของนักเรียน นิสิต นักศึกษา เช่นการยกเลิกสายสาขาวิชา หรือการปรับเรื่องทรงผม และหวังให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา เคลื่อนไหวตรวจสอบการคอร์รัปชั่นในทุกระดับ แต่เรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ หากจะมีการพูดคุยกันหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการ
นายสมชาย กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาประเทศตามข้อเรียกร้อง แม้นายกรัฐมนตรีลาออกก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะมีหลายเรื่องต้องแก้ปัญหาก่อน เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะเข้าสู่รัฐสภาช่วงกลางเดือนนี้ ส่วนตัวให้ความเห็นไปแล้วว่า หากจะแก้ไขรายมาตราเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ เช่นกรณียกเลิก ส.ว.ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี หรือการแก้ไขระบบเลือกตั้ง
ส่วนกระแสที่บอกว่า ส.ว.มีแนวโน้มเห็นชอบหลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. นายสมชาย กล่าวว่า การยกร่างใหม่ทั้งฉบับ ยังมีปัญหาที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ จึงไม่สามารถบอกแนวโน้มการลงมติมาตรา 256 เพราะเป็นเอกสิทธิ์ ของ ส.ว.แต่ละคนในการลงมติ
ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. กล่าวว่า คุณสมบัติผู้เหมาะสมที่จะมาดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการสมานฉันท์ควรจะ เป็นนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และอดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัย เพราะถือเป็นผู้อาวุโสและมีบารมีทางการเมืองและทางสังคมในระดับที่ไม่ด้อยไปกว่าผู้ใด เป็นผู้เข้าใจในการเมืองระบอบประชาธิปไตยระบบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทั้งทางทฤษฎีและการปฏิบัติ เห็นทั้งข้อดีและข้อด้อยของนักการเมือง ไม่เคยยอมรับระบอบรัฐประหาร เข้าใจคนยากคนจน เข้าใจหัวอกของคนที่ถูกกล่าวหาอย่างเหมารวมด้วยความไม่เป็นธรรม และที่สำคัญนายชวนประกาศเปิดเผยว่าไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ 2560 แต่ก็ยินดีปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ 2560 อีกทั้ง การดำรงตำแหน่งประธานกรรมการสถาบันพระปกเกล้า จะยิ่งช่วยให้ใช้กลไกของรัฐสภาและสถาบันพระปกเกล้าได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด.-สำนักข่าวไทย