รัฐสภา 17ก.ย.-สภาเห็นชอบงบกระทรวงท่องเที่ยวฯ ตามกมธ. ด้าน “พิมพ์รพี” ห่วง ท่องเที่ยว ฟุบไม่ฟื้น เชื่อกวาดรายได้ไม่ถึง 1.24 ล้านล้าน แนะ ฟังเอกชนก่อนออกนโยบาย
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในช่วงเที่ยงวันนี้ (17ก.ย.) พิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 วาระ 2-3 ที่คณะกรรมาธิการฯ พิจารณาเสร็จแล้ว มาตรา 11 งบประมาณของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาวงเงิน 3,646 ล้านบาท โดยคณะกรรมาธิการ ฯ ปรับลดงบประมาณลงกว่า 154 ล้านบาท ( 154,916,000 )
น.ส.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 อภิปรายมาตรา 11 งบประมาณรายจ่ายของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและหน่วยงานในกำกับ 3,646 ล้านบาท โดยสงวนความเห็นให้ปรับลดงบประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ และชี้แจงเหตุผลว่า ปัญหาต่าง ๆ ว่าไม่สามารถทำได้หรือไม่สามารถทำได้ลุล่วงตามเวลา เป็นเพียงแค่ข้ออ้างว่า การท่องเที่ยวที่มีปัญหาส่วนใหญ่ โดยเฉพาะงบประมาณที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวมีเพียง 1 พันล้านเท่านั้น และไม่ค่อยตอบโจทย์ปัญหาโควิด-19 ไม่มีการเชื่อมต่องบประมาณ 4 แสนล้านบาท เพื่อเยียวยาฟื้นฟูที่สถานการณ์โควิด-19 หรืองบกลางต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ค้นพบว่าวิสัยทัศน์ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะนโยบายที่เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ยืดเยื้อมากกว่าที่คิด แต่การแก้ไขปัญหายังเป็นแบบวันต่อวัน
น.ส.พิมพ์รพี กล่าวว่า ล่าสุดสื่อระบุว่า สมาคมโรงแรมบอกว่า พิษโควิด-19 ทำโรงแรมเจ๊ง วอนรัฐช่วยพักหนี้ ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำขอให้มีมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือ ขอเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเฉพาะกลุ่ม และกระตุ้นท่องเที่ยวให้โดนใจในระยะยาว ซึ่งมองไม่เห็นนโยบายพวกนี้ในนโยบายของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเท่าไหร่ ถึงแม้กรรมาธิการฯ จะพยายามสอบถาม แต่ก็ยังมองไม่เห็นว่าการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้านี้ ได้รับการแก้ไขเยียวยาทันที ตนเคยอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรไปหลายครั้งแล้ว ว่าปัญหาการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจตอนนี้ รุนแรงกว่าภาวะต้มยํากุ้งที่เกิดขึ้นเพราะว่าเศรษฐกิจภาวะต้มยํากุ้งเกิดขึ้นแล้วจบ แต่ปัญหาโควิด-19 ยืดเยื้อยาวนาน และจะทำให้การท่องเที่ยวบอบช้ำประชาชน 1 ถึง 2 ล้านคน จะตกงาน รายได้จากการท่องเที่ยวที่รัฐมนตรีคาดหวังว่าจะเป็นรายได้ 1.24 ล้านบาท ไม่น่าจะได้ตามเป้าหมาย และจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของรัฐบาลด้วย
น.ส.พิมพ์รพี กล่าวว่า พยายามดูการให้เอกชนมีส่วนร่วมกำหนดนโยบาย แต่ค่อนข้างจะมีความย้อนแย้ง ยกตัวอย่างเช่น ภูเก็ตโมเดล เสนอให้เปิดจังหวัดภูเก็ต เนื่องจากภูมิประเทศเป็นเกาะ ปิดล้อมได้ โดยใช้มาตรการ 4 ที (4 T) คือกำหนดเป้าหมายประเทศที่จะมาท่องเที่ยว จะต้องเป็นประเทศที่ไม่เป็นโควิด-19 มีการตรวจ 2 ครั้งก่อนเดินทาง และตรวจอีก 1 ครั้งที่สนามบิน และควบคุมให้อยู่ในโรงแรมอีก 14 วัน มีระบบติดตามนักท่องเที่ยว มีระบบโรงพยาบาลคอยรองรับ แต่รัฐบาลก็ไม่ค่อยตอบโจทย์นี้เท่าไร และจะออกนโยบายใหม่อีกเปิดให้ชาวต่างด้าวเข้ามาอยู่ในระยะยาว โดยกักตัว 14 วัน ซึ่งอาจได้รับผลกระทบ เพราะไม่ได้ฉันทานุมัติจากประชาชน ส่วนงบบูรณาการการท่องเที่ยวตามมาตรา 37 ก็ยังไม่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหานี้
นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการ อภิปราย เสนอให้ปรับลดงบประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ โดยอภิปรายถึงงบประมาณส่งเสริมการสร้างภาพยนตร์ต่างประเทศในราชอาณาจักร 178 ล้านบาท ซึ่งมองว่าผู้สร้างภาพยนตร์ควรเป็นฝ่ายลงทุน งบประมาณจึงน่าจะลดลงได้มากกว่านี้ และงบประมาณจัดเดินสายนิทรรศกาลภาพยนตร์ในต่างประเทศ 9.7 ล้านบาท ทั้งที่ไม่สามารถเดินทางได้เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ส่วนการสนับสนุนเรื่องกีฬา โดยกรมพลศึกษาสร้างสนามกีฬาอำเภอต่าง ๆ ก็สร้างไม่คุ้มค่า จนกลายเป็นสนามกีฬาร้าง
หลังอภิปรายอย่างกว้างขวาง ที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมาธิการฯปรับลด ด้วยคะแนน 266 ต่อ 126 งดออกเสียง 20 เสียง.-สำนักข่าวไทย