เมืองทองธานี 11 ก.ย.-“ชวน” แนะการบริหารบ้านเมืองที่ดีต้องยึดหลักธรรมาภิบาลอย่างเคร่งครัด ไม่ทุจริตเสียเอง ชี้ประเทศไทยเคยชินกับคำว่าเกรงใจ จนทำสิ่งที่ผิด หวังสถาบันการศึกษาสร้างความเข้าใจการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ธรรมาภิบาลกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในสังคมไทย” ในการประชุมวิชาการเนื่องในวันสหวิทยาการ ตอนหนึ่ง ว่า การทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยมาเป็นเวลายาวนาน ถือเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ไม่สุจริต ไม่ซื่อตรง และไม่ซื่อสัตย์ มีพฤติกรรมที่แสวงหาประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งแนวทางการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นในสังคมไทย นอกจากการใช้มาตรการทางด้านกฎหมายในการปราบปรามแล้ว ควรนำหลักการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดีหรือหลักธรรมาภิบาลมาปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ควรมีการสร้างเครื่องหมายแห่งความดีให้เกิดขึ้นกับตัวเองและสังคม เช่น หลักคุณธรรม จริยธรรม เพื่อเป็นเครื่องหมายแห่งความดี มีจิตสำนึกที่ดี และที่สำคัญที่สุด คือ มีการดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นปรัชญาที่ชี้แนวทางในการดำเนินชีวิตของประชาชนทุกระดับ รวมถึงระดับรัฐบาลในการพัฒนาและบริหารประเทศ
นายชวน กล่าวด้วยว่า แนวทางในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น
มี 3 แนวทาง คือ แนวทางตามหลักธรรมาภิบาล เป็นหลักในการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี เหมาะสำหรับประเทศไทย เพราะสามารถตรวจสอบได้อย่างมีประสิทธิผล เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมเพื่อเข้ามามีบทบาทตรวจสอบได้ รวมถึงแนวทางตามหลักคุณธรรมและจริยธรรม และแนวทางตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง
“แนวคิดนี้ ต่างประเทศได้มีการนำไปสอนคนในชาติ โดยเฉพาะประเทศภูฎานที่นำไปปลูกฝังให้กับประชาชน และยกย่องว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เป็นปราชญ์ของประเทศ พระองค์ทรงแสดงให้เห็นจากแนวคิดนี้ว่าบ่อเกิดของการคอร์รัปชั่นส่วนมากมาจากความโลภของบุคคลในองค์กร ผู้นำที่มีชีวิตเรียบร้อยเหมาะสมกับฐานะความเป็นอยู่ ซึ่งจะเป็นหนทางในการป้องกันคอร์รัปชั่น ควรตามรอยเบื้องพระยุคลบาทด้วยจิตพอเพียง เพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบในวงราชการ โดยเริ่มรณรงค์ให้หัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีลงไปน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นวิถีชีวิต และขยายผลไปสู่เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคนทุกระดับ ดังนั้นเมื่อบุคคลระดับผู้นำของประเทศมีวิถีชีวิตอย่างพอเพียงตามข้อเสนอนี้ ก็จะไม่ทุจริตเสียเอง และจะสามารถควบคุมกำกับดูแลไม่ให้เกิดการทุจริตประพฤติมิชอบในองค์กรที่ตนรับผิดชอบ รวมถึงเป็นแบบอย่างให้กับสาธารณชนที่มาจากภาคการเมือง ซึ่งเข้ามาร่วมใช้อำนาจรัฐด้วยกัน” นายชวน กล่าว
นายชวน กล่าวอีกว่า หากเป็นเช่นนี้ ประเทศชาติจะสามารถหลุดพ้นจากการทุจริต ผิดกฎหมาย คอร์รัปชั่นต่าง ๆ ได้อย่างแน่นอน และการเมืองสุจริต ถือเป็นมิติใหม่และเป็นแนวคิดใหม่ที่ตนได้คิดริเริ่มขึ้น เนื่องจากเห็นว่าการได้มาซึ่งสิทธิเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตยนั้น จะต้องได้มาด้วยความชอบธรรม หรือได้มาด้วยความสุจริต ไม่ใช่ได้มาด้วยการซื้อสิทธิขายเสียง การทุจริต
“ทั้งนี้แนวทางในการแก้ไขปัญหา จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องเสริมสร้างให้ประชาชน เห็นถึงความสำคัญของการเมืองที่ยึดหลักธรรมาภิบาล ทั้งหลักนิติธรรม หลักคุณธรรม หลักความโปร่งใส หลักการมีส่วนร่วม หลักความรับผิดชอบ และหลักความคุ้มค่า ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของการเมืองสุจริต ซึ่งการทำประชาธิปไตยและการเมืองให้สุจริตได้นั้น จำเป็นจะต้องเพิ่มเติมหลักความไม่เกรงใจด้วย เพราะประเทศไทยเราเคยชินกับคำว่าเกรงใจ จนบางครั้งก็ยอมทำในสิ่งที่ผิด ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่แล้วว่าไม่ถูกต้อง ทำให้เกิดความเสียหายต่อส่วนรวม และเกิดความเสียหายกับตนเอง เพียงเพราะต้องทำตามเพราะความเกรงใจ” นายชวน กล่าว
นายชวน กล่าวอีกว่า ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นของประเทศไทย เกิดจากธรรมาภิบาลภาคปฏิบัติที่ล้มเหลว เพราะความเกรงใจและละเลยการทำหน้าที่ของตน การจัดโครงการในครั้งนี้เพื่อนำนโยบายแนวคิด “การเมืองสุจริต” ไปสู่การปฏิบัติ โดยผ่านการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน โดยเฉพาะในสถาบันการศึกษา เยาวชน และนักศึกษา เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และระบบการเมืองสุจริต เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายตระหนักถึงความสำคัญของคุณธรรมและจริยธรรม ความซื่อสัตย์สุจริตที่จะเป็นเครื่องมือนำพาให้ประเทศมีความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน.-สำนักข่าวไทย