ทำเนียบรัฐบาล 21 ส.ค.-มติ ศบค.ให้ขยายพ.ร.ก.ฉุกเฉินอีก 1 เดือน ให้คนเข้าชมกีฬาได้ แต่ต้องแบ่งสัดส่วน-ประเภทกีฬาให้เกิดความปลอดภัย ให้ขนส่งสาธารณะรับคนได้เต็มจำนวน นายกฯย้ำต้องสร้างความเข้าใจประชาชน เพื่อความไว้ใจ
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์โควิด-19 ว่า วันนี้(21 ส.ค.) ไทยมีรายงานผู้ป่วยใหม่ 1 ราย รวมผู้ป่วยสะสม 3,390 ราย รักษาหาย 3,219 ราย รักษาอยู่ 113 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 58 ราย สำหรับผู้ป่วยใหม่ 1 รายเป็นชายไทย อายุ 56 ปี อาชีพพนักงานบริษัท กลับมาจากสิงคโปร์ถึงไทยวันที่ 7 สิงหาคม เข้าพักในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ที่จังหวัดชลบุรี ตรวจหาเชื้อครั้งที่ 2 วันที่ 18 สิงหาคม ผลตรวจพบเชื้อ โดยไม่มีอาการ
โฆษกศบค. กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์โลก พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รวม 22,859,239 ราย เสียชีวิต 797,009 ราย สหรัฐอเมริกาติดเชื้อมากที่สุด 5,746,272 ราย เสียชีวิต 177,424 ราย ขณะที่ไทยอยู่อันดับที่ 115 ของโลก ขณะที่อินเดีย วานนี้(20 ส.ค.) มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 68,507 ราย และญี่ปุ่น ติดเชื้อรายใหม่ 951 ราย
“องค์การอนามัยโลก(WHO) เปิดเผยว่า คนช่วงวัย 20-40 ปีเป็นตัวการแพร่กระจายโควิด-19 มากขึ้นเรื่อย ๆ และหลายคนไม่ทราบว่าตัวเองติดเชื้อ เป็นความเสี่ยงให้เกิดการระบาดไปยังผู้สูงอายุ เด็กและผู้ป่วยอื่น ๆ ซึ่งการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีกรอบ ทำให้บางประเทศต้องกลับมาใช้มาตรการควบคุมอีกครั้ง ส่วนสหรัฐฯ เป็นอีกตัวอย่างที่ภายหลังมีการชุมนุมกัน ทำให้การติดเชื้อและแพร่กระจายในประเทศเพิ่มขึ้นด้วย” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
โฆษกศบค. กล่าวว่า ที่ประชุมศบค.ชุดใหญ่ วันนี้(21 ส.ค.0) หารือความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนที่หลายประเทศกำลังเข้าสู่การทดลองกับมนุษย์ ในส่วนของไทยอยู่ระหว่างขั้นตอนก่อนการทดลองในมนุษย์ สำหรับกระบวนการได้มาซึ่งวัคซีน มีหลายทาง ทั้งเตรียมการผลิต โดยรับถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผู้ผลิตต่างประเทศ ซึ่งต้องจัดสรรงบประมาณให้ผู้ผลิตพัฒนาวัคซีน รวมถึงต้องสั่งซื้อและจองวัคซีนจากผู้ผลิตจากทุกแหล่งที่เป็นไปได้ โดยต้องวางแผนจัดสรรงบประมาณและสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับต่างประเทศด้วย และต้องสนับสนุนการวิจัยในประเทศและร่วมมือกับต่างประเทศ
“ที่ประชุมศบค.เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 5) ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน ถึง 30 กันยายน 2563 ตามที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) เสนอ และเตรียมเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ต่อไป เนื่องจากจำเป็นต้องมีอำนาจตามกฎหมายเชิงป้องกันในการแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้การบริหารจัดการวิกฤติการณ์ได้อย่างรวดเร็ว เป็นเอกภาพและมีประสิทธิภาพ ภายหลังผ่อนคลายกิจการและกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูงแล้ว ทั้งการเปิดโรงเรียน สถาบันการศึกษาทั้งหมด” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
โฆษกศบค. กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติอนุญาตให้แข่งขันกีฬาแบบมีผู้ชมได้ ให้ขนส่งสาธารณะทั้งทางบก ทางน้ำมีจำนวนผู้โดยสารได้เต็มความจุมาตรฐาน โดยฝ่ายความมั่นคง กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงที่เกี่ยวข้องได้หารือเรื่องนี้อย่างรอบคอบ สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่กังวลคือคน ดังนั้นสิ่งสำคัญคือการควบคุมการเดินทางเข้า-ออกของคน ทั้งในประเทศและแรงงานต่างด้าวที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ยืนยันว่าพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินไม่กระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชน ภาคธุรกิจสามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติ
“แต่การแข่งขันกีฬาแบบมีผู้ชม ต้องลดความแออัดของผู้ชมให้ได้ ไม่ใช่นั่งเต็มพื้นที่เหมือนเวทีมวย โดยกำหนดสัดส่วนจำนวนผู้ชมเป็นแบบเปอร์เซ็นตามความเสี่ยงของระดับการบริหารสถานการณ์โควิด-19 คือ ระดับสีขาว เขียว เหลือง ส้ม แดง และตามประเภทของสนามกีฬา ซึ่งแบ่งเป็นสนามกลางแจ้งและสนามในร่ม รวมถึงแบ่งเป็นชนิดกีฬาที่มีการตะโกนเชียร์และไม่มีการตะโกนเชียร์ เพราะการตะโกนเชียร์ถือเป็นความเสี่ยงของการแพร่เชื้อได้ เช่น ขณะนี้ไทยอยู่ในสถานการณ์ระดับสีเขียว ปลอดภัย แต่ยังไม่มีวัคซีน ทำให้กีฬาฟุตบอลที่มีการตะโกนเชียร์ จะมีจำนวนผู้เข้าชมในสนามได้ 25 เปอร์เซนต์” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
โฆษกศบค. กล่าวว่า การควบคุมโรคและเศรษฐกิจแล้ว ต้องดูแลอารมณ์และจิตใจของประชาชนด้วย เพราะจากการวิเคราะห์จะมีคน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่กังวลต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งอยากให้มีมาตรการควบคุมโรคอย่างเข้มงวด และกลุ่มที่ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ที่อยากให้ผ่อนคลายกิจการ เพื่อให้ทำมาหากินได้ตามปกติ ดังนั้น ศบค.ต้องดูแลทั้ง 2 กลุ่มอย่างเท่าเทียมและให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้นวยการศบค.เน้นย้ำว่าต้องทำให้ประชาชนไว้วางใจมากที่สุด ด้วยการชี้แจงข้อเท็จจริงและสร้างการรับรู้ความเข้าใจให้มากที่สุด เพราะในความเป็นจริงจะต้องอยู่กับโรคไปอีกระยะหนึ่ง และไม่อาจคงตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศให้เป็นศูนย์ได้ไปตลอด ดังนั้น การป้องกันตนเองจึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด.-สำนักข่าวไทย