รร.เซ็นทาราแกรนด์เซ็นทรัลพลาซาลาดพร้าว 1 ส.ค.- เวทีชำแหละเงินกู้ฟื้นฟูโควิด กังวล ใช้ พ.ร.ก.เงินกู้ หวั่นใช้งบประมาณไม่ตรงจุด แนะควรมีภาคประชาชน-สื่อมวลชน ร่วมตรวจสอบ ด้าน “พิธา” แนะรัฐบาลต้องสำรองเงินกรณีต้องเยียวยารอบ2 ขณะรองเลขาสภาพัฒฯ ยืนยันพิจารณาทุกโครงการรอบคอบไม่มีคุณขอมา
ผู้เข้าอบรมหลักสูตรผู้บริหารการ สื่อสารมวลชนระดับสูงด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการ โทรทัศน์ (บสส.) รุ่นที่ 9 สถาบันอิศรา จัดงานสัมมนาสาธารณะ ชำแหละเงินกู้ฟื้นฟูโควิด ช่วยเศรษฐกิจ หรือ เป็นพิษกับประชาชน โดยมีนายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และประธานอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการพิจารณาโครงการ ใน พ.ร.ก.กู้เงิน , นายสมชาย แสวงการ ประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา , นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและที่ปรึกษา กมธ. วิสามัญติดตามตรวจสอบงบประมาณ และมาตรการแก้ไขปัญหาวิกฤตโควิด ,นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอรับชั่น (ประเทศไทย) และ น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บ.ป่าสาละ จำกัด เข้าร่วม
นายดนุชา กล่าวว่า พ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ เป็นเงินที่กู้จริงคือ วงเงิน 1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น 3 ก้อน คือ ด้านสาธารณสุข 4.5 หมื่นล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ากรณีมีการระบาด ด้านการเยียวยา 5.55 แสนล้านบาท ที่จ่ายตรงไปผู้รับผลกระทบ และด้านฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท ซึ่งการใช้เงินลักษณะนี้ประเทศอื่นก็ทำ อย่างออสเตรเลีย เยอรมนี ใช้มาตรการการคลัง 4% ของจีดีพี ญี่ปุ่น 16% ส่วนไทยหากเทียบแล้วอยู่ที่ 7-8% ทั้งนี้ งบฟื้นฟูเศรษฐกิจจะใช้ใน 4 ส่วน คือ 1.เพิ่มศักยภาพประเทศ เช่น การใช้นวัตกรรมเข้าไปช่วยเกษตรกร 2. เศรษฐกิจฐานราก เน้นเรื่องการจ้างงาน สร้างความเข้มแข็งชุมชน 3. กระตุ้นการบริโภค เช่น เราเที่ยวด้วยกัน และ 4. โครงสร้างพื้นฐาน ที่ต้องเกิดประโยชน์ในแง่เกิดการหมุนเวียน ตอบโจทย์พื้นที่ ขณะนี้ ครม.อนุมัติแล้ว 3.7 หมื่นล้านบาท ล่าสุด คณะกรรมการกลั่นกรองฯ เห็นชอบอีก 160 โครงการเล็กๆ ราว 800 ล้านบาท กระจาย 58 จังหวัด โดยจะเสนอ ครม.สัปดาห์หน้า ส่วนที่ให้ไม่ครบทุกจังหวัด เพราะบางโครงการอาจไม่ได้เกิดประโยชน์กับประชาชนจริง เช่น การจัดงานอีเวนต์ 1-2 วัน แล้วเลิกไป ทำอบรมอย่างเดียว แต่โครงการที่ให้เกิดประโยชน์ระยะยาว อย่างภาคใต้ที่ทำโครงการปรับลดพื้นที่ปลูกยางพารา มาปลูกพืชผสมผสาน โครงการกลุ่มเกษตรกร ที่ขอให้รัฐสนับสนุนการผลิต แปรรูป แต่ไม่มีเงินซื้ออุปกรณ์ เพื่ออัปเกรดผลิตภัณฑ์
นายดนุชา ยังยืนยันว่าการพิจารณาอนุมัติงบไม่มีเรื่องโครงการคุณขอมา ตามที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกต เพราะทุกโครงการต้องผ่านคณะอนุกรรมการกลั่นกรองที่มีผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วม ก่อนส่งไปยังคณะกรรมการกลั่นกรองชุดใหญ่ ดังนั้นไม่มีเรื่องของการแทรกแซงหรือกดดันในการพิจารณา
ขณะที่นายสมชาย แสวงการ ให้ความเห็นว่าตนเองมีความกังวลเรื่องการใชเงินกู้ให้เหมาะสมกับปัญหาประเทศ ที่ต้องตรงเป้า ทั่วถึง และคุ้มค่า พร้อมระบุว่า โครงการกว่า 4 หมื่นโครงการที่เสนอไปยังกรรมการกลั่นกรองโครงการพิจารณาโครงการ ใน พ.ร.ก.กู้เงิน นั้น ถือว่ามีความน่าเชื่อถือ แต่ควรให้มีภาคประชาชน ภาควิชาการ และสื่อมวลชน มีส่วนร่วมในกรรมการด้วย เพื่อให้มีการตรวจสอบได้ และไม่ให้เกิดการทุจริต โดยยกตัวอย่างการใช้จ่ายงบประมาณที่ไม่ตอบโจทย์ เช่น โครงการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด ในหลายพื้นที่ ที่เงินมักจะหายไปกับการทุจริต ไม่ได้เข้าถึงประชาชนอย่างแท้จริง
ด้านนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและที่ปรึกษา กมธ.วิสามัญติดตามตรวจสอบงบประมาณ และมาตรการแก้ไขปัญหาวิกฤติโควิด เห็นตรงกันว่า ต้องมีการบริหารจัดการ พ.ร.ก.กู้เงินให้ตรงวัตถุประสงค์ เพราะหากใช้ไม่ตรงจะเป็นการกู้เงินโดยเปล่าประมาณ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มหนี้ให้กับประเทศมากขึ้น พร้อมเสนอแนะการใช้งบประมาณที่เหลือไปยังรัฐบาลว่าต้องเก็บไว้เยียวยาประชาชนรอบที่ 2 หากจำเป็น ใช้สำหรับบุคคลที่ยังไม่สามารถทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างปกติ ใช้ในการกระตุ้นธุรกิจ SME โดยเฉพาะ เพื่อให้มีการจ้างงาน รวมถึงมาตรการจ้างงานใหม่ ใช้ในการอุดหนุนการท่องเที่ยว ซึ่งอาจจะเปิดบางจังหวัดที่มีความพร้อมด้านสาธารณสุข เพื่อให้การท่องเที่ยวฟื้นตัว รวมถึงด้านการศึกษา ช่วยเด็กกลุ่มเปราะบาง ยากจนให้ได้เรียนต่อ- สำนักข่าวไทย