สนง.ผู้ตรวจฯ 30 ก.ค.-ผู้ตรวจการแผ่นดินให้ยุติการพิจารณาคำร้อง “ศรีสุวรรณ” กรณีรัฐบาลใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน – ออกพ.ร.ก.กู้เงินแก้โควิด ชี้จำเป็นต้องทำเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ ป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ
การประชุมผู้ตรวจการแผ่นดิน วานนี้(29 ก.ค.) มีมติยุติเรื่องกรณีนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยขอให้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าพ.ร.ก. บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และพ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 ประกอบมาตรา 140 หรือไม่ เนื่องจากเห็นว่าตามมาตรา 172 วรรคหนึ่งและวรรคสองของรัฐธรรมนูญ คณะรัฐมนตรี(ครม.) สามารถตราพระราชกำหนดได้ในกรณีที่เห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วน อันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในอันรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ
อีกทั้งที่ผ่านมาได้เกิดสถานการณ์โรคโควิด – 19 ระบาดอย่างฉับพลัน ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย เป็นผลให้ผู้ประกอบการซึ่งระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ต้องประสบปัญหาขาดสภาพคล่องอย่างกะทันหัน และมีแนวโน้มจะเกิดการผิดนัดชำระหนี้ อันเป็นความเสี่ยงเชิงระบบที่กระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งหากไม่เร่งรีบป้องกันและวางแนวทางแก้ไขไว้ก่อน ย่อมจะก่อให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง เนื่องจากกระบวนการตราพระราชบัญญัติไม่อาจตอบสนองต่อวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้นได้ทันท่วงที ดังนั้น การที่คณะรัฐมนตรีตราพระราชกำหนดดังกล่าว เพื่อไม่ให้ปัญหาวิกฤติของตลาดตราสารหนี้ลุกลาม อันเป็นการทำหน้าที่พื้นฐานทางเศรษฐกิจของรัฐในการสร้างความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ
สำหรับที่ร้องว่ามาตรา 20 ของพ.ร.ก.กู้เงิน ขัดต่อมาตรา 140 ของรัฐธรรมนูญ เห็นว่ามาตรา 20 มีเจตนารมณ์ในการกำหนดกระบวนการบริหารจัดการกองทุนเท่านั้น ซึ่งขณะนี้ยังไม่อาจทราบได้ว่าการดำเนินการของธนาคารแห่งประเทศไทย จะมีกรณีที่ต้องจ่ายเงินแผ่นดินเกิดขึ้นหรือไม่ แต่หากเกิดกรณีที่ต้องชดเชยความเสียหายกระทรวงการคลังจะต้องดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการงบประมาณและกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไปให้สอดคล้องตามมาตรา 140.-สำนักข่าวไทย