รัฐสภา 1 พ.ค. – “วิโรจน์” โรยเกลือต่อ ลุยร่วม กมธ.การเศรษฐกิจ ปมตั๋ว PN “นายกฯ อิ๊งค์” ชี้ตั้งประเด็นนิติกรรมอำพรางหลีกเลี่ยงภาษีการรับให้หรือไม่ ท้าหากกรมสรรพากรบอกทำได้ให้ออกประกาศให้ประชาชนรับทราบ ยกเป็น “ระเบียบแพทองธารโมเดล” ด้าน “สิทธิพล” ชี้วันนี้จะได้รับความชัดเจนว่าการใช้ตั๋ว PN เป็นไปตามกฎหมายหรือไม่
การประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พัฒนาการเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร มีนายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธาน กมธ.ฯ ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยเชิญนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน มาให้ข้อมูลในฐานะเป็นผู้ยื่นเรื่องให้ตรวจสอบการร้องเรียนการซื้อขายหุ้นโดยใช้ตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือตั๋ว PN มูลค่า 4,434 ล้านบาท ของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ถูกมองมีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี
นายสิทธิพล ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมว่า การตรวจสอบดังกล่าเป็นผลสืบเนื่องจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ที่มีข้อสงสัยเรื่องการซื้อขายหุ้นผ่านตั๋วสัญญาใช้เงินของนายกรัฐมนตรี กมธ. จึงเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมสรรพากร สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มาร่วมให้ข้อมูล ให้ได้ความชัดเจนว่าการกระทำดังกล่าวถูกหรือผิดกฎหมาย และตั้งใจอาศัยช่องว่างกฎหมายหลบเลี่ยงภาษีหรือไม่ อยากให้หน่วยงานราชการทำเรื่องนี้ให้โปร่งใสชัดเจน
ด้านนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวว่า หลังจากไปยื่นหนังสือถึงกรมสรรพากรวินิจฉัยพฤติกรรม น.ส.แพทองธาร ที่ใช้ตั๋ว PN ซื้อหุ้นจากบุคคลในครอบครัว เป็นการสร้างรูปแบบซื้อขาย โดยไม่มีเจตนาซื้อขายหุ้นจริง เป็นการทำนิติกรรมอำพราง เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีการรับให้หรือไม่ ขอให้กรมสรรพากรตรวจสอบให้เกิดความชัดเจน เพราะยังมีประชาชนที่กำลังจะโอนหุ้นบริษัทให้ทายาทที่มีมูลค่าเกิน 20 ล้านบาทในปีภาษี อาจจะไม่โอน เพื่อไม่ต้องชำระภาษีการรับให้
“คำถามคือถ้าประชาชนเอาโมเดลจากนายกฯ มาทำตาม อธิบดีกรมสรรพากรต้องประกาศเป็นลายลักษณ์อักษรว่าต่อไปนี้ให้ใช้ตั๋ว PN และทำแบบนายกฯ หรือจะตั้งชื่อว่า “แพทองธารโมเดล” ให้ทุกคนทำตาม แต่กรมสรรพากร ต้องรับสภาพว่านับแต่นี้เป็นต้นไปอาจไม่สามารถจัดเก็บภาษีการรับให้ได้เลย ไม่ใช่เฉพาะกรณีนายกฯ หากแต่กรมสรรพากรต้องไปดูการใช้ตั๋ว PN ในวงศ์วานของนายกฯ พิจารณาทุกธุรกรรมการโอนเงินผ่านธนาคารว่ามีการชำระเงินกันจริงหรือไม่ ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน หากไม่พบการชำระเงินก็วินิจฉัยได้ง่าย หรืออีกกรณีที่เทียบเคียงได้คือนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท 9 แห่ง มูลค่า 4,400 ล้านบาท โดยสมบูรณ์ หมายความว่าบริษัททั้งหมดจ่ายเงินเงินปันผลหรือไม่ นายกรัฐมนตรีจัดสรรเงินปันผลชำระค่าซื้อหุ้นให้แม่ พี่สาว พี่ชาย และลุง ป้าสะใภ้ บ้างหรือไม่” นายวิโรจน์ กล่าว.-319-สำนักข่าวไทย