รัฐสภา 26 ธ.ค.-กมธ.คุ้มครองผู้บริโภคสภาฯ รับหนังสือแก้ไข 3 กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค เร่งสภาผลักดัน เพื่อแก้ปัญหาสินค้าไม่ตรงปก-ติดฉลากและให้ข้อมูลโภชนาการ
น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล โฆษกคณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย สส. พรรคเพื่อไทย รับหนังสือจาก น.ส.ฐิตินัดดา รักกู้ชัย ประธานศูนย์สิทธิผู้บริโภค เขตบางกอกน้อย ที่ได้มายื่นหนังสือเพื่อสนับสนุนให้มีการแก้ไขและออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค จำนวน 3 ฉบับ ประกอบด้วย ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค, ร่างพระราชบัญญัติอาหาร และร่างพระราชบัญญัติความรับผิดชอบเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า เนื่องจากพบว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจ และสังคมในยุคดิจิทัล ทำให้ปัญหาการละเมิดสิทธิผู้บริโภคมีความสลับซับซ้อน หลากหลายและสร้างความเสียหายกับผู้บริโภคมากขึ้น เพื่อให้กฎหมายมีความทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหาของผู้บริโภคในปัจจุบัน จึงมีความเห็นพ้องร่วมกัน ให้จัดทำร่างและเสนอกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคจำนวน 3 ฉบับ
โดยร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค เสนอปรับปรุง เพิ่มเติมการรับรองสิทธิผู้บริโภค ให้เทียบเท่ากับสิทธิผู้บริโภคสากล และเพิ่มเติมหน้าที่ของรัฐ และผู้ประกอบธุรกิจ รวมถึงให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญา เกี่ยวกับการซื้อขายสินค้าหรือบริการทางออนไลน์
ขณะที่ร่างพระราชบัญญัติอาหาร เสนอแก้ไขในเรื่องการพิจารณาอนุญาตอาหาร และการโฆษณาอาหาร กำหนดให้มีผู้เชี่ยวชาญทำหน้าที่ในกระบวนการพิจารณา อนุญาตอาหาร และหน้าที่ของผู้ประกอบธุรกิจในการรับผิดชอบต่อผู้บริโภค รวมถึงแก้ไขบทกำหนดโทษและอัตราค่าธรรมเนียมให้เหมาะสม
ส่วนร่างพระราชบัญญัติความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า เพื่อแก้ปัญหาซื้อสินค้าใหม่ไม่ได้คุณภาพ มาตรฐาน มีความชำรุดบกพร่อง ใช้งานไม่ได้ ผู้ประกอบธุรกิจไม่ดูแลรับผิดชอบ โดยเฉพาะสินค้าที่มีเทคโนโลยีซับซ้อนจนผู้ซื้อไม่สามารถพบเห็นความชำรุดบกพร่องได้ทันทีในเวลาซื้อขายหรือส่งมอบ
ขณะที่นางสาวขัตติยา เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดทำร่างกฎหมายแต่ละฉบับว่าร่าง พ.ร.บ.ความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า ได้รับทราบจากรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ว่ามีการยกร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวเรียบร้อยแล้วและอยู่ระหว่างให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา เนื่องจากเป็นกฎหมายที่มีความละเอียดอ่อน มีผู้ได้รับผลกระทบ และผู้รับผิดชอบหลายภาคส่วน จึงต้องหารือจากทุกฝ่ายเพื่อทำกฎหมายออกมาอย่างสมบูรณ์และกฎหมายไม่มีความขัดแย้งกัน ทั้งกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ด้วย ส่วนกรณีการได้รับสินค้าไม่ตรงปกหรือสินค้าชำรุดบกพร่อง ก็มีมาตรการส่งฟรี ในการคืนสินค้ากรณีเก็บเงินปลายทาง ซึ่งจะเป็นการแบ่งเบาความทุกข์ของผู้ซื้อสินค้า ขนาดที่ร่างพระราชบัญญัติอาหารและยา ก็ได้มีการพูดคุยกันทั้งในเรื่องของสลาก คำแนะนำ ในการให้ข้อมูลทางโภชนาการอย่างถูกต้องให้กับประชาชน โดยทั้งสภาและภาคประชาชนต่างเห็นตรงกันถึงปัญหาที่ต้องการให้ผู้บริโภคได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือการบริโภคอาหาร ทั้งนี้ กมธ.คุ้มครองผู้บริโภคก็จะนำกฎหมายที่เสนอมาไปเปรียบเทียบกับที่กำลังพิจารณาว่ามีส่วนใดที่ยังเห็นตรงกันหรือเห็นต่างเพื่อหาจุดร่วมกันและจะเชิญเข้าศูนย์สิทธิผู้บริโภค ร่วมพิจารณาแก้ไขกฎหมายต่อไป.-314.-สำนักข่าวไทย