รัฐสภา28 ต.ค.-“สว.เทวฤทธิ์” สงสัยถาม “พิเชษฐ์” รองประธานสภา ปล่อย “พล.อ.พิศาล” ลาประชุมได้อย่างไร ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่ามีคดีตากใบ
นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า กรณีคดีตากใบหมดอายุความไปเมื่อวันที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยเฉพาะการติดตามผู้ต้องหา 14 คนมาดำเนินคดี สัปดาห์ที่แล้วคณะกรรมาธิการ การพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน สิทธิ เสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ได้ประชุมเพื่อเรียกเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะตำรวจภูธรภาค 9 เข้าให้ข้อมูล พบว่าผู้ต้องหาทั้ง 14 คนหลบหนีผ่านช่องทางที่เป็นทางการ และช่องทางธรรมชาติ จึงเป็นประเด็นที่เราอยากจะวิงวอน แม้คดีจะล่วงเลยไปแล้ว แต่อยากให้นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่นอกจากจะออกมาแสดงความเสียใจและขอโทษแล้ว ยังต้องพิสูจน์ความเสียใจและขอโทษด้วยการลงมือ
ส่วนประเด็นเรื่องอายุความ นายเทวฤทธิ์ กล่าวว่า มีข้อเสนอของนักสิทธิมนุษยชนขอร้องให้ประเทศอังกฤษ ดำเนินคดีกับผู้ที่หลบหนี เนื่องจากมีข้อกฎหมายที่รับรองไว้ หากรัฐบาลจริงใจในคดีตากใบ ต้องช่วยกันเร่งรัดดำเนินคดี อำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในคดีชายแดนใต้อื่น ๆ ด้วย เพราะความยุติธรรมเป็นหัวใจสำคัญของการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ทำความจริงให้ปรากฏแล้วความยุติธรรมจะตามมา เมื่อความยุติธรรมตามมาปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ก็จะลดลง เราต้องดึงเขาให้เข้ามาเห็นว่าที่นี่เป็นบ้าน พร้อมให้ความยุติธรรมทำกับพวกเขา
นายเทวฤทธิ์ เสนอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงจากการที่เจ้าหน้าที่รัฐไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรง จนนำไปสู่ความสูญเสีย ทั้งกรณีตากใบและกรณีอื่น ๆ เช่น การวิสามัญที่เขาตะเว เมื่อปี 2562 รวมถึงคดีสลายการชุมนุม เมษายน-พฤษภาคม 2553 ซึ่งเป็นกรณีที่เกิดขึ้นกลางกรุงเทพฯ นอกจากนี้ยังต้องให้ความปลอดภัยกับญาติผู้สูญเสียในคดีตากใบ หลายคนตั้งคำถามว่าเหตุใดถึงลุกขึ้นมาฟ้องร้องก่อน 1 ปีหมดอายุความ เนื่องจากเพิ่งรู้ข้อเท็จจริงว่าคดีถูกฟรีซไว้ ตั้งแต่ปี 2557 เราอยู่ภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหาร อาจจะมีการเลือกตั้งหลังจากนั้น แต่ก็มีความระแวง ประการสำคัญคือ รัฐบาลต้องให้หลักประกันกับญาติที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องและต่อสู้ เพราะฝ่ายตรงข้ามในคดีเป็นผู้ที่ถืออาวุธและเป็นฝ่ายความมั่นคง รัฐบาลต้องหามาตรการที่ดูแลทั้งร่างกายและจิตใจของญาติผู้สูญเสีย
นายเทวฤทธิ์ กล่าวต่อว่าแม้คดีจะหมดอายุความ แต่สามารถทดเวลาได้คือ ร้องขอให้ประเทศต้นทางที่รู้ว่าผู้ต้องหาหลบหนีไปอย่างเป็นทางการดำเนินคดี เพื่อเป็นการแสดงความพยายามถึงที่สุด ไม่ใช่บอกแค่ว่าพลเอกพิศาล วัฒนวงษ์คีรี ลาออกจากพรรคเพื่อไทยไปแล้ว เพื่อปัดภาระความรับผิดชอบ ไม่ใช่ภาระของพรรค แต่คือภาระความรับผิดชอบของรัฐบาล ต่อมาคือการแสวงหาข้อเท็จจริง อำนวยความยุติธรรมในคดีที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงโดยรัฐ รวมถึงการคุ้มครองประชาชนที่ลุกออกมาเรียกร้อง โดยเฉพาะญาติที่ออกมาฟ้องคดีที่ใช้ความกล้าหาญมาก เนื่องจากอยู่ในภาวะหวาดกลัวมานาน
“การหลบหนีแปลว่ามีรอยรั่ว เราจะปล่อยให้หลบหนีแล้วจบไม่ได้ ใครปล่อยให้รั่วออกไป หากจริงใจและเสียใจต้องหาว่า ใครปล่อยให้รั่วออกไป นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ที่เซ็นอนุมัติให้พลเอกพิศาลลาป่วยถึงวันที่ 30 ต.ค.67 จะบอกว่าใครยื่นมาก็เซ็นให้ทั้งหมดไม่ได้ เพราะนายพิเชษฐ์รู้ดีว่าคดีมีการฟ้องไปแล้ว คงต้องมีการตรวจสอบว่าการเซ็นอนุมัติของนายพิเชษฐ์ใช้ดุลยพินิจถึงที่สุดหรือไม่ รวมถึงตรวจสอบการเดินทางออกนอกประเทศอย่างเป็นทางการและช่องทางธรรมชาติตามที่เจ้าหน้าที่ตำรวจออกมาชี้แจงด้วย คนอายุปูนนั้นออกไปไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ออกไปได้ไม่ใช่ตัวลำพังเพียงแค่ 14 คน ฝากไปยังรัฐบาล โดยเฉพาะนายภูมิธรรม ที่ดูแลความมั่นคง นายกฯ ที่ออกแสดงความเสียใจและขอโทษ เป็นการพิสูจน์ความความจริงใจในการแสดงคำขอโทษและเสียใจ” นายเทวฤทธิ์ กล่าว.-319.-สำนักข่าวไทย