รัฐสภา 13 ก.ย. – ‘นันทนา’ ติง รัฐบาลไม่มีเรื่องการศึกษาในนโยบายเร่งด่วน ชี้อยากเห็น ‘นายกฯ’ สร้างประวัติศาสตร์ ด้วยการ ‘ปฏิรูปการศึกษา’ ตั้ง คกก.พร้อมนั่งเป็นประธานเอง
ในการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณา คำแถลงนโยบายของรัฐบาลนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีวันที่ 2
นางสาวนันทนา นันทวโรภาส สมาชิกวุฒิสภา (สว.) อภิปรายถึงนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลเขียนมา 10 ข้อ ว่า ไม่มีเรื่องการศึกษาเลย แต่ต้องขอชื่นชมถ้อยคำหรูหราที่ใส่ไว้ในนโยบาย ทั้งเรื่องการพัฒนาระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่น เน้นทักษะใช้ประโยชน์ได้จริง ส่งเสริมการปลดล็อคศักยภาพ เฟ้นหาและช่วยเหลือเด็กที่หลุดจากระบบ ถ้อยคำเหล่านี้จะมีความหมาย ถ้าท่านเข้าใจความสำคัญของการศึกษาอย่างลึกซึ้ง
นางสาวนันทนา ตั้งคำถามว่า ทำไมบริษัทชั้นนำที่ผลิตสินค้าสำหรับโลกแห่งอนาคตต่างๆ จึงตัดสินใจลงทุนในประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม แทนที่จะเป็นประเทศไทย โดยยกดัชนีวัดขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ พบว่าจุดอ่อนสำคัญ คือเรื่องประสิทธิภาพของคน หรือแรงงาน ทั้งปกขาวและปกน้ำเงิน ซึ่งมาจากคุณภาพการศึกษาของเรา ขณะนี้การศึกษาของประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 54 จาก 67 ประเทศ จากที่ไอเอ็มดีสำรวจ และการสอบ PISA ในรอบ 10 ปี ก็มีผลต่ำลงอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน รวมถึงทักษะการใช้ภาษาอังกฤษด้วย
นางสาวนันทนา ชี้ว่า ปัญหานี้เราได้ยินกันมาทุกปี แต่ยังไม่มีรัฐบาลไหนลงมือทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน แล้วรัฐบาลนี้ควรจะทำอย่างไรต่อไป โดยเสนอแนะ ดังนี้ ประการที่หนึ่ง ต้องไม่ปล่อยให้กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัฒกรรมดำเนินการแก้ไขกันเองอย่างที่ทำกันมา
นางสาวนันทนา ย้ำว่า การศึกษาเป็นเรื่องใหญ่มากเกี่ยวกับทุกคน และอนาคตของชาติ เพราะโอกาสที่จะยกระดับความอยู่ดีกินดีของประชาชนล้วนเกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้ง
ดังนั้น การดำเนินการจะต้องทำแบบบูรณาการ วางทิศทางแก้กฎหมาย จัดระบบงบประมาณ บุคลากร และการทำงานร่วมกันของภาครัฐและเอกชน รวมทั้งการปลูกฝังค่านิยมใหม่ๆ
ประการที่สอง เพื่อเป็นการส่งสัญญาณไปยังภาคส่วนต่างๆ รวมถึงนักลงทุนต่างประเทศ จึงอยากให้นายกรัฐมนตรีผลักดันเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ ตั้งคณะกรรมการระดับสูง ว่าด้วยการปฏิรูปการศึกษาไทย โดยมีท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธานด้วยตนเอง
“ดิฉันอยากเห็นท่านนายกฯ สร้างประวัติศาสตร์ เรื่องที่นายกฯ คนคนก่อนไม่เคยเห็นความสำคัญ นั่นคือการปฏิรูปการศึกษาไทย อยากให้ดูบทเรียนในประเทศภูมิภาคนี้ ที่ล้วนใช้การศึกษาเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นแนวทางหลักในการพัฒนาประเทศทั้งสิ้นดังนั้น ถ้าท่านต้องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ต้องเริ่มต้นที่การศึกษาพัฒนาคุณภาพของคน ให้มีศักยภาพสูงแข่งขันกับทั่วโลกได้ ด้วยการปฏิรูปการศึกษา และประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ นี่คือทางรอดของประเทศไทย”นส.นันทนา กล่าว.-312 -สำนักข่าวไทย