รัฐสภา 5 ม.ค.- สส.ก้าวไกล อภิปรายต้นตอปมค่าแรงขั้นต่ำ แนะ นายกฯ แก้ปัญหาให้ตรงจุด พร้อมแก้สูตรคิดคำนวณค่าแรง บอก หากต้องตัดงบ ให้ตัดผู้มีส่วนร่วมออกแบบสูตรค่าจ้าง โดยเฉพาะปลัดแรงงาน
นางวรรณวิภา ไม้สน สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวอภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 เกี่ยวกับด้านสวัสดิการแรงงาน ว่า สถานะของแรงงานยังไม่ได้อยู่ในวิกฤต โดยตั้งคำถามถึงการเพิ่มรายได้ ขณะที่ค่าแรงยังคงที่ การลดรายจ่าย แต่ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคยังสูง และขยายโอกาสแบบใดที่ประชาชนยังถูกเอาเปรียบ แม้แต่กฎหมายยังไม่สามารถบังคับใช้ได้ เมื่อพิจารณาร่างงบประมาณแล้ว รัฐบาลยังจัดสรรงบประมาณไม่ต่างกับรัฐบาลชุดก่อน ซึ่งเหมือนเป็นการตั้งงบไม่ได้มาแก้วิกฤตเหมือนที่นายกรัฐมนตรีชอบพูด
นางวรรณวิภา กล่าวว่า ปัญหาค่าแรงขั้นต่ำที่ตอนนี้โยนกันไปมา ระหว่างคณะกรรมการค่าจ้างกับนายกรัฐมนตรี สรุปว่าจะอย่างไรกันแน่ ซึ่งจะมีการประชุมไตรภาคีอีกไม่กี่วันข้างหน้า กล้าทุบโต๊ะหรือไม่ ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ค่าแรงขั้นต่ำปรับขึ้นเล็กน้อย ขยับไปไม่ถึงไหน
“ปัญหาเรื่องขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของการกำหนดค่าแรงที่มีสูตรในการคิดคำนวณ ซึ่งการต่อรองกับระหว่างคณะกรรมการไตรภาคี ท่านคงไม่สามารถสั่งเฉยๆ แบบที่ใจต้องการได้ แต่หากท่านมีจิตใจที่อยากขึ้นค่าแรงจริงๆ ท่านต้องแก้ปัญหาที่ต้นตอ สูตรในการคำนวณค่าแรงขั้นต่ำที่ใช้อยู่ปัจจุบัน ถือว่าเป็นสูตรที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ใช้แรงงาน หรือที่เรียกกันว่าค่า แอล (L) ซึ่งตนขอเรียกว่าเป็นค่าสูตรที่คิดออกมาแบบด้อยค่าแรงงาน ทำให้พี่น้องแรงงานถูกกดค่าแรงให้ต่ำมาตลอดเป็นระยะเวลา 7 ปี โดยการคิดให้น้อยกว่าความสามารถที่จะเพิ่มขึ้นของแรงงานที่ทำได้จริงๆ แทนที่แรงงานจะได้ค่าแรงเต็มๆ จากความสามารถที่เพิ่มขึ้น กลับได้ค่าแรงที่กระทรวงแรงงานได้กดเอาไว้” นางวรรณวิภา กล่าว
นางวรรณวิภา กล่าวอีกว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้แรงงานเสียโอกาสที่จะได้รับค่าแรงสูงขึ้น ยกตัวอย่าง กรณี กทม. หากใช้สูตรปัจจุบันและคิดเป็นธรรมตามปกติ กทม.จะได้ค่าแรงขั้นต่ำอย่างน้อย วันละ 375 บาท ขณะที่ปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 353 บาท หรือ 32 % ตามสูตรปัจจุบัน เท่ากับเสียโอกาสไม่น้อยกว่า 20 บาทต่อวัน
“ต่อให้ทำงานมีประสิทธิภาพ หรือผลิตภาพ 100-200 เปอร์เซ็นต์ แต่เจอสูตรหวงค่าแรงของกระทรวงแรงงานเข้าไป ขึ้นได้เต็มที่ 32% เท่านั้น ดังนั้น ฝากไปถึงนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล เข้าไปแก้ไขปัญหาและจัดการเรื่องนี้โดยเร็วที่สุด และหากท่านมีแผนตัดงบบุคลากรภาครัฐ ขอให้พิจารณาในส่วนของสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานด้วย เพราะคนที่สมควรถูกตัดเงินเดือนมากที่สุด คือคนที่อยู่ในคณะกรรมการค่าจ้าง รวมไปถึงปลัดแรงงานในฐานะประธานบอร์ด ที่มีส่วนร่วมปล่อยให้เกิดการคิดสูตรคำนวณที่ไม่เป็นธรรมต่อเนื่องมาอย่างยาวนานเกิน 7 ปี ทำให้ผู้ใช้แรงงานมีรายได้ที่ไม่สมเหตุสมผล ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องร้ายแรง ฉะนั้น หากจะต้องตัดเงินเดือน ผู้ที่สมควรถูกตัดเงินเดือนมากที่สุด คือ คนที่มีส่วนร่วมออกแบบสูตรค่าจ้าง” นางวรรณวิภา กล่าว.-318.-สำนักข่าวไทย