เชียงใหม่ 18 ธ.ค. – “สุทิน” เปิดการฝึกบินควบคุมไฟป่าและหมอกควัน ย้ำการฝึกร่วมเป็นสิ่งสำคัญ เปิดศูนย์เตรียมพร้อมก่อนไฟมาเป็นเรื่องดี ยอมรับ ต้องเพิ่มอากาศยาน-เครื่องมือ พร้อมบำรุงขวัญทีมเสือไฟของกรมป่าไม้
นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานเปิดการฝึกบินควบคุมไฟป่าและหมอกควัน ประจำปี 2567 ซึ่งกองทัพอากาศ ได้ร่วมกับกองทัพภาคที่ 3 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมฝนหลวงและการบินเกษตร องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับกำลังพลและยุทโธปกรณ์ ในการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ตามนโยบายของรัฐบาล โดยการบูรณาการการปฏิบัติร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการฝึกและสามารถปฎิบัติภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
นายสุทิน กล่าวเปิดการฝึกว่า ปัญหานี้นายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ถือเป็นนโยบายสำคัญที่ต้องให้ทุกคนได้ปฏิบัติให้เกิดเป็นผลสำเร็จ การป้องกันไฟป่าและหมอกควัน เป็นเรื่องที่เราทำต่อเนื่องกันมาหลายปี ไม่สามารถทำได้เฉพาะหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง จะต้องบูรณาการจากทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง รวมถึงฝ่ายท้องถิ่น เรื่องนี้แม้เราจะทุ่มเทแก้ไขปัญหามาโดยตลอด แต่ปัญหาก็ทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี ปัญหาใหญ่ที่ค้นพบก็เกิดจากประชาชนที่ยังขาดจิตสำนึกและขาดการตระหนักรู้ถึงภยันตรายของหมอกควันไฟป่า เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง เชื่อว่าฝ่ายปกครอง ฝ่ายท้องถิ่น ก็พยายามแล้ว แต่เมื่อเกิดแล้วการสกัดและยับยั้งในช่วงกลางน้ำและปลายน้ำ ก็เป็นภารกิจที่เราต้องทำร่วมกัน กองทัพและกระทรวงกลาโหม ถือเป็นภารกิจสำคัญ ที่ผ่านมาการสนธิกำลังอาจไม่ชัดเจน แต่ปี 67 นี้ ทราบว่ามีการเตรียมการตั้งแต่ต้น และตั้งศูนย์อำนวยการขึ้น และปฏิบัติตามกันอย่างเป็นระบบ และปีนี้เราทำก่อนเวลาที่ทำกันทุกปีคือช่วงมกราคม
“เชื่อว่า ความพร้อม ประกอบกับการตื่นตัว และการสนธิกำลัง และการฝึก จะช่วยให้เราแก้ปัญหานี้ได้ แต่ก็มีปัจจัยเชิงลบที่ท้าทาย และทำให้เราทำงานหนักขึ้น อย่างสภาพดินฟ้าอากาศทั่วไป ซึ่งปรากฏการณ์เอลนีโญ่ เมื่อมาก็จะมีความแห้งมากขึ้นและทอดยาวไป จากที่จะจบสิ้นโดยเร็วประมาณพฤษภาคม ก็อาจจะต้องเตรียมแผนปฏิบัติการต่อเนื่อง เข้าใจว่าทุกคนเหนื่อยพอสมควรในปีที่แล้ว แต่เชื่อว่าปีนี้ก็คงเหนื่อยไม่เบา จึงขอให้กำลังใจทุกคน และชื่นชมการปฏิบัติงานในอดีตที่ผ่านมา พร้อมอวยพรให้ภารกิจได้สำเร็จลุล่วงด้วยดี” นายสุทิน กล่าว
นายสุทิน ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า การฝึกร่วมกันเป็นขั้นตอนถือเป็นสิ่งสำคัญ ปีที่แล้วแม้จะมีหลายหน่วยงานมาร่วม แต่บางหน่วยงานก็อาจจะยังไม่ได้ถึงระดับตั้งศูนย์ รวมศูนย์ประสานงาน แต่ปีนี้เกิดพัฒนาการอยู่ 2 เรื่องที่ทำให้เชื่อมั่นว่าจะทำได้ดีกว่าปีที่แล้ว เพราะหลายหน่วยได้ตั้งศูนย์ขึ้นมา อย่างเช่นกองทัพภาคที่ 3 ขณะเดียวกันเข้าใจว่าเมื่อสถานการณ์ถึงขั้นหนึ่ง ฝ่ายปกครองก็อาจต้องประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ ถึงตรงนั้นแล้วการทำงานก็จะคล่องตัวขึ้น แต่การประกาศนี้ทางปกครองก็ต้องดูละเอียด เพราะอาจเป็นผลเสียด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ
ส่วนปัญหาอุปสรรคนั้นมี แต่ไม่มาก เช่น อากาศยานต่างๆ เมื่อเทียบกับขนาดของปัญหา ก็ต้องจัดหาเพิ่ม นอกจากนี้ ยังมีทีมเสือไฟของกรมป่าไม้ ที่ต้องมีการบำรุงขวัญพอสมควร เพราะมีการสูญเสียในปีที่ผ่านมา ทำให้หลายคนกำลังใจไม่ดี
ทั้งนี้ ปัญหาจริงๆเกิดจากประเทศเพื่อนบ้าน ก็ต้องแก้ที่ต้นเหตุคือการประสานเพื่อนบ้าน ซึ่งรัฐบาลก็ประสานอยู่ 2-3 ประเทศ แต่ในส่วนของคนไทย ฝ่ายปกครองและฝ่ายเกษตร ก็เข้าไปแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ โดยมีมาตรการรับซื้ออ้อยสด ก็ถือว่าช่วยได้เยอะในพื้นราบ ส่วนการสนับสนุนงบประมาณนั้น ทางรัฐบาลให้แต่ละหน่วยงานที่รับผิดชอบตั้งงบของตัวเองเต็มที่ แต่ก็มีงบกลางสำรองไว้ หากไม่พอจริงๆ ขณะที่ปัญหา PM 2.5 ในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่มาจากควัน การก่อสร้าง ก็แก้ปัญหาคนละแบบกับพื้นที่อื่น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการฝึกในครั้งนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-22 ธันวาคม 2566 โดยจัดอากาศยานจากหน่วยต่างๆ เข้าร่วมการฝึก ประกอบด้วย EC-725 2 เครื่อง , UAV Aerostar BP 1 ระบบ , C-130H 1 เครื่อง, AU-23 1 ,เครื่อง BT-67 1 เครื่อง ,DA-42MNG 1 เครื่อง C-130H 1 เครื่อง ,AU-23 1 เครื่อง ,BT-67 1 เครื่อง KA 32 1 เครื่อง ,AS350B2 2 เครื่อง , Kodiak 100 1 เครื่อง , AS350B2 1 เครื่อง, Drone DJI Matric 300 RTK 1 โดยวางแผนการฝึก 47 เที่ยวบิน โดรนขนาดเล็ก 2 เที่ยวบิน.-313.-สำนักข่าวไทย