สวนรื่นฤดี 8 พ.ย. -กอ.รมน.เปิดเวทีเสวนาสร้างความเข้าใจกม.ที่เกี่ยวข้อง ด้านสมช.ช่วยแจงเหตุจำเป็นที่ยังต้องคงไว้ทั้งองค์กรและกม. ชี้เสมือนโซ่ข้อกลางบูรณาการงาน ย้ำไม่มีหน่วยงานใดดูแลความมั่นคงได้เพียงหน่วยเดียว
กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร(กอ.รมน.) จัดเสวนาทางวิชาการ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 เพื่อเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจที่มีต่อกอ.รมน. โดยมีพล.อ.นพนันต์ ชั้นประดับ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก พล.ท.ดนัยวัฒนา รุ่งอุทัย ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก และน.ส.ชลธนสรณ์ พิสิฐศาสน์ ผู้อำนวยกองนโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคง สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ร่วมเสวนา
พล.อ.นพนันต์ กล่าวถึงกรณีพรรคก้าวไกลเสนอยกเลิกพระราชบัญญัติกอ.รมน. เพื่อยุบกอ.รมน.ว่า ยังไม่มีความชัดเจนว่าต้องการยุบด้วยสาเหตุใด ทั้งที่กอ.รมน. มีบทบาทหน้าที่ชัดเจนตามกฎหมาย ไม่ได้ซ้ำซ้อน ส่วนการจัดอัตรากำลังพลเป็นโครงสร้างผสมระหว่างทหารและพลเรือน แบ่งอัตรากำลังอย่างชัดเจน ดังนั้น การเสนอร่างยุบกอ.รมน.จึงผิดหลักการและข้ามขั้นตอนการปรับปรุงหน้าที่ภารกิจของส่วนราชการ ซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย และหลักการจัดองค์การสากล ไม่มีมีข้อมูลเชิงประจักษ์ที่จะชี้ให้เห็นว่า อำนาจทหารเหนือกว่าพลเรือน ที่จะนำไปสู่การยุบกอ.รมน. ที่สำคัญหากจะมองว่าการจัด กำลังกอ.รมน.มีความซับซ้อนและซ้ำซ้อน ก็ไม่จำเป็นต้องยกเลิกพ.ร.บ.แต่สามารถแก้ระเบียบในฝ่ายบริหารได้โดยผ่านมติคณะรัฐมนตรี
พล.ท.ดนัยวัฒนา กล่าวว่า การทำงานแก้ปัญหาภัยความมั่นคง ไม่สามารถทำงานเพียงหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งได้ จึงเกิดกองอำนวยการร่วมเพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อให้พร้อมต่อการรับมือปัญหาความมั่นคงใหม่ ๆ ผ่านการคาดการณ์ล่วงหน้า ไม่เช่นนั้นประชาชนจะได้รับความเดือดร้อน ต้องไม่ทำงานไล่ตามปัญหาเหมือนในอดีต
น.ส.ชลธนสรณ์ กล่าวว่า การยุบกอ.รมน.หรือยกเลิกพระราชบัญญัติกอ.รมน.ควรต้องพิจารณาก่อนว่าปัญหาอยู่ที่ตัวกฎหมายหรือสาระของกฎหมาย ซึ่งหากมีปัญหาที่กลไกใดสามารถแก้ไขรายมาตราได้ หรือหากปัญหาอยู่ที่การปฏิบัติ ต้องกลับมาพิจารณาปัญหาที่ถูกต้อง
น.ส.ชลธนสรณ์ กล่าวว่ากอ.รมน.มีหน้าที่ระงับยับยั้งภัยความมั่นคงของประเทศ ซึ่งภัยปัจจุบันพัฒนาการขึ้นจากอดีต อาทิ ภัยคอมมิวนิสต์ ภัยสงคราม ภัยการก่อการร้าย ซึ่งปรับเปลี่ยนเป็นภัยเศรษฐกิจ ภัยทางสังคมที่มีพลวัตรสูงมาก และมีความรุนแรงสูงมาก ปัญหาความมั่นคงเหล่านี้จึงเป็นโจทย์ท้าทายว่าควรจะออกแบบหน่วยงานความมั่นคงเพื่อสกัดกั้นภัยต่าง ๆ ได้ เพื่อไม่ให้สงผลกระทบต่อประเทศและสังคม หรือชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เพราะภัย ๆ หนึ่ง ไม่สามารถระบุชี้ชัดได้ว่า จะมีหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งมารับผิดชอบได้หรือไม่ แต่จะต้องอาศัยความร่วมมือ
น.ส.ชลธนสรณ์ กล่าวว่า หน่วยงานนั้นจะต้องทันต่อภัย มีความยืดหยุ่น ทำได้ทั้งในภาวะปกติและไม่ปกติ โดยมีสายบังคับบัญชาสั้น กระชับ ไม่เน้นระบบราชการปกติ ต้องอาศัยความร่วมมือ การบูรณาการ ซึ่งในภาพกว้าง ภัยหนึ่ง ประเทศ ประเทศหนึ่งก็อาจไม่สามารถจัดการได้ ต้องอาศัยความร่วมมือ ครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อตอบสนองภัยได้อย่างรวดเร็ว และต้องอาศัยภาคประชาชน ดึงประชาชนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาความมั่นคง จึงสะท้อนความจำเป็นที่ต้องมีพ.ร.บ.กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร จำเป็นต้องมีกอ.รมน.เพื่อตอบสนองภัยต่าง ๆ ต้องมีเครือข่าย
“กอ.รมน.เป็นหน่วยงานรูปแบบเฉพาะ มีความยืดหยุ่นกว่าหน่วยปกติ เพื่อตอบสนองภัยได้อย่างรวดเร็ว หากคิดจะยุบกอ.รมน.หรือจะตั้งหน่วยงานใหม่ก็ต้องหาคำตอบว่าจะมีหน่วยงานใดที่ประสานความร่วมมือป้องกันภัยรูปแบบใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะในการปฏิบัตินั้น สมช.เป็นเสมือนหน่วยงานในการทำหนดนโยบายสู่หน่วยงาน หรือประเด็นความมั่นคง แต่สมช.เป็นหน่วยงานขนาดเล็ก และมีช่องว่างขาดการอำนวยการ ดังนั้น กอ.รมน.จึงถือเป็นข้อต่อโซ่เชื่อมระหว่างหน่วยงานในการกำหนดนโยบาย และหน่วยงานเพื่อนำไปปฏิบัติได้เป็นรูปธรรม” น.ส.ชลธนสรณ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้เข้าร่วมสัมมนาเห็นตรงกันว่าทั่วโลกใช้ทหารสนับสนุนความมั่นคง เป็นการปฏิบัติตามมาตรฐานสากล อาทิ การจัดระเบียบสาธารณะ การต่อต้านการก่อการร้าย การควบคุมชายแดน การปราบปรามยาเสพติด การป้องกันอาชญากรรมทางไซเบอร์ รวมถึงการรวบรวมข่าวสาร การบรรเทาสาธารณะภัย เป็นต้น ส่วนที่มีข้อกว่าวหาเรื่องการใช้งบราชการลับของกอ.รมน.สร้างความร่ำรวยให้นายทหารชั้นสูงนั้น ยืนยันว่างบประมาณ 100,000 ล้านบาทเป็นเพียงการรวมงบประมาณในแต่ละปีที่สะสมมา ซึ่งไม่สามารถสรุปได้ว่าไปสร้างประโยชน์ให้กับบุคคลใด เพราะการเสนองบประมาณในแต่ละปีเป็นการเสนอตามขั้นตอน และระบบการใช้จ่ายงบประมาณของทางราชการที่กลั่นกรองและตรวจสอบได้ด้วยระบบของราชการ ซึ่งหากจะรวมงบประมาณของหน่วยราชการอื่นแบบสะสมในแต่ละปี ทุกหน่วยราชการมีงบประมาณสูงเช่นเดียวกัน .-สำนักข่าวไทย