นนทบุรี 20 ก.พ. – รมว.พาณิชย์ เผยคณะอนุกรรมการ นบข. ด้านการตลาด มีมติเห็นชอบ 3 มาตรการแก้ปัญหาราคาข้าวเปลือกตกต่ำ ทั้งการให้สินเชื่อชะลอข้าวนาปรังที่จะออกมากในเดือน มี.ค.-เม.ย. ชดเชยดอกเบี้ยแก่สหกรณ์หรือโรงสีที่ซื้อข้าวในราคานำตลาด และเปิดจุดรับซื้อข้าวเปลือก โดยเพิ่มราคาให้อีก 300 บาท เตรียมนำเข้าที่ประชุม นบข.เห็นชอบต่อไป
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ ด้านการตลาด โดยพิจารณาเรื่องเร่งด่วนเกี่ยวกับราคาข้าวเปลือกตกต่ำ
ทั้งนี้ที่ประชุมมีมติกำหนดมาตรการช่วยเหลือชาวนา 3 มาตรการได้แก่ การให้สินเชื่อชะลอผลผลิตข้าวนาปรังออกสู่ตลาด เป็นระยะเวลา 1-5 เดือน โดยให้ตันละ 1,500 บาท หากชาวนามียุ้งฉางที่สามารถเก็บข้าวไว้ได้เอง จะได้รับเงินเต็มจำนวน แต่ถ้านำข้าวไปฝากไว้ที่สหกรณ์หรือโรงสีที่เข้าร่วมโครงการชาวนาจะได้ตันละ 1,000 บาท ส่วนสหกรณ์หรือโรงสีจะได้ตันละ 500 บาท มาตรการที่ 2 คือ ชดเชยดอกเบี้ยให้แก่สหกรณ์หรือโรงสีที่เข้าร่วมโครงการชะลอขายข้าว 6% เป็นเวลา 2-6 เดือน เพื่อดึง Supply ออกจากตลาด ส่วนมาตรการที่ 3 คือการเปิดจุดรับซื้อข้าวเปลือก สำหรับเกษตรกรที่ต้องการขายข้าวเลยหลังเก็บเกี่ยว โดยจะเพิ่มราคาให้อีก 300 บาทต่อตัน
ทั้ง 3 โครงการจะใช้งบประมาณ 1,893.53 ล้านบาท คาดว่าจะดึงข้าวออกจากตลาดได้ 500,000 ตัน โดยคณะอนุกรรมการนบขด้านการตลาด จะนำเสนอให้นบข. ชุดใหญ่ พิจารณาต่อไป
นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์ ยังมีมาตรการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ รวมทั้งส่งเสริมการส่งออก โดยจะ เจรจากับจีนและประเทแอฟริกาใต้ให้รับซื้อข้าวจากไทย
นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า ข้อเรียกร้องอื่นๆ ของชาวนาเช่น ค่าบริหารจัดการตอซังและฟางข้าวอันเนื่องมาจากรัฐบาลออกมาตรการห้ามเผา เงินช่วยเหลือสำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำภาคกลางที่ใช้เป็นพื้นที่รับน้ำ มีคณะอนุกรรมการนบข. ด้านการผลิตซึ่งรับผิดชอบโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับไปพิจารณาแล้ว คาดว่าจะมีการประชุมในสัปดาห์หน้า เพื่อเสนอต่อนบข. และครมพิจารณาตามลำดับ
นายปราโมทย์เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทยกล่าวว่า มาตรการดังกล่าวจะช่วยยกระดับราคาข้าว จากที่ตอนนี้ขายได้ประมาณ 6,000 บาทต่อตัน เป็น 8,000 บาทต่อตันสำหรับข้าวสดซึ่งเป็นราคาที่เกษตรกรอยู่ได้ แต่อยากให้รัฐบาลพิจารณาช่วยเหลือเรื่องต้นทุนการผลิต ทั้งค่าปุ๋ย ค่าสารเคมีกำจัดแมลงและวัชพืช ที่นับวันจะยิ่งแพงขึ้น ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 5,500 บาทถึง 6,000 บาทต่อตัน ยังไม่รวมค่าบริหารจัดการตอซังและฟางข้าวจากนโยบายห้ามเผาซึ่งจะรอฟังคณะอนุกรรมการ นบข. ด้านการผลิตว่า จะมีแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรเพิ่มเติมอย่างไร. -512 – สำนักข่าวไทย