รัฐสภา 25 ต.ค.-สภาฯ ถกญัตติก้าวไกล ชง ครม.ทำประชามติยกร่าง รธน. ทวงคำพูด สส.ให้แสดงจุดยืนเหมือนช่วงปลายปี 65 ด้าน “เพื่อไทย” ยันจุดยืนแก้ รธน. แต่ขอไม่สังฆกรรมด้วย อ้าง สว.รอขวาง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้พิจารณาญัตติเรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเห็นชอบและแจ้งให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อสอบถามความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมีนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นผู้เสนอ
นายพริษฐ์ กล่าวเสนอญัตติว่า พรรคก้าวไกล ขอยืนยันว่า การแก้ไขรายมาตราอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาทั้งหมด แต่เราจำเป็นต้องมีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีปัญหาขาดความชอบธรรม ทั้งที่มา กระบวนการ เนื้อหา อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีการท้วงติงว่า การจัดทำประชามติอย่างน้อย 2 ครั้ง คือ ก่อนและหลังยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยหลังยกร่างฯ หลายฝ่ายไม่ได้ทักท้วง แต่ที่ยังมีข้อถกเถียงกัน คือ ก่อนยกร่างรัฐธรรมนูญจะต้องดำเนินการกี่ครั้ง
นายพริษฐ์ กล่าวอีกว่า การจะมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จะต้องเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เพื่อเพิ่มเรื่องนี้เข้าไป ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (8) กำหนดไว้ว่า การเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นจะต้องจัดทำประชามติ 1 ครั้งเสียก่อน ซึ่งตรงนี้ตรงกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ก็มีบางฝ่ายตีความว่าจะต้องทำประชามติก่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ดังนั้น จึงกลายเป็นข้อถกเถียงว่า ก่อนที่จะมี ส.ส.ร. จะต้องทำประชามติ 1-2 ครั้ง ซึ่งในทางการเมือง พรรคก้าวไกลยอมได้ หากจะมีการทำประชามติอีก 1 ครั้ง รวมเป็น 2 ครั้ง ก่อนที่จะมี ส.ส.ร.
นายพริษฐ์ กล่าวอีกว่า ส.ส.ร. จะต้องมาจากการเลือกตั้ง 100% ส่วนข้อกังวลที่ห่วงว่าจะไม่มีผู้เชี่ยวชาญเข้ามายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น ส.ส.ร. สามารถเปิดให้มีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาแนะนำ ให้คำปรึกษาได้ ขณะที่ข้อกังวลว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐและการปกครองนั้น ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 255 ห้ามไว้ว่าการกระทำนั้นไม่สามารถทำได้อย่างแน่นอน
“คำถามที่เรานำเสนอเพื่อใช้สำหรับถามในการทำประชามติ เป็นคำถามที่ทุกพรรคการเมืองเมื่อสภาฯ ชุดที่แล้วนำเสนอไว้ก่อนแล้ว ไม่ใช่คำถามใหม่ เพราะเคยเสนอโดยนายณัฐวุฒิ บัวประทุม จากพรรคก้าวไกล และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ จากพรรคเพื่อไทย มาแล้วเมื่อปี 65 และยิ่งกว่านั้น ในญัตติคราวที่แล้ว เดือน พ.ย.65 ได้รับมติเอกฉันท์ท่วมท้นจากทุกพรรคการเมืองหลัก ดังนั้น สส.ทุกคนที่เคยให้ความเห็นชอบ ผมเชื่อว่าเวลาผ่านไปยังไม่ถึง 1 ปี คงไม่มีเหตุผลที่จะทำให้ สส.เปลี่ยนจุดยืน แต่หากจะเปลี่ยนจุดยืน ผมหวังว่า สส.เหล่านั้นจะรับผิดชอบอภิปรายต่อสภาฯ ว่าทำไมจุดยืนถึงเปลี่ยนแปลงไป” นายพริษฐ์ กล่าว
ทั้งนี้ พบว่ามีผู้ที่สนับสนุนญัตติดังกล่าว คือ สส.จากพรรคก้าวไกล ที่ย้ำว่ารัฐบาลควรรับฟังข้อเสนอจากสภาฯ ถึงการเดินหน้าทำประชามติ ที่ต้องเปิดกว้างในการรณรงค์ของประชาชนทุกฝ่าย รวมถึงไม่ปิดโอกาสแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพราะจะกระทบต่อความชอบธรรมในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ โดยนายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ตนขอให้สภาฯ ทำสิ่งที่ถูกต้อง แม้บางคนจะไม่สามารถให้ความเห็นด้วยได้ แต่ขอให้งดออกเสียง อย่าคว่ำ หากจะคว่ำขอให้ไปคว่ำที่ สว. เพื่อรักษาเกียรติของ สส. ตัวแทนประชาชน
ขณะที่การอภิปรายของ สส.พรรคร่วมรัฐบาล แสดงความชัดเจนว่าไม่สนับสนุนญัตติของพรรคก้าวไกล เพราะอาจสร้างจุดด่างพร้อยให้กับกระบวนการทำประชามติ เนื่องจากกลไกที่ใช้รัฐสภาต้องอาศัยความเห็นชอบของ สว.ด้วย
โดยนายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า พรรคเพื่อไทยสนับสนุนการทำประชามติ และแก้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดย ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ทั้งนี้ รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการฯ มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เป็นประธานกรรมการ เพื่อดำเนินการ ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวขอเวลาทำงานถึงสิ้นปี และขณะนี้เหลืออีก 2 เดือน ซึ่งตนเชื่อว่าคณะทำงานไม่ต้องการซื้อเวลาแน่นอน หวังว่าจะไม่มีข่าวที่ระบุว่าพรรคร่วมรัฐบาลคว่ำญัตติ เพื่อขวางการทำประชามติ
“พรรคเพื่อไทยมีจุดยืนมั่นคงว่า จะไม่แก้หมวด 1 และหมวด 2 ของรัฐธรรมนูญ ดังนั้นอาจจะแตกต่างในคำถามประชามติ ส่วนญัตติดังกล่าวที่จะประสบความสำเร็จต้องส่งให้วุฒิสภาและ ครม.ใช้ดุลพินิจว่าจะเห็นชอบหรือไม่ ผมมองว่าความสำเร็จเกิดไม่มาก ดังนั้นควรรอการทำงานของคณะกรรมการฯ เพื่อให้โอกาสเกิดความสำเร็จของการแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย โดย ส.ส.ร. และยืนยันว่า พรรคเพื่อไทยไม่บิดพลิ้วสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนตอนหาเสียง” นายนพดล กล่าว
เช่นเดียวกับ สส.พรรคร่วมรัฐบาล อาทิ นายอรรถกร ศิริลัทธยากร สส.ฉะเชิงเทรา พรรคพลังประชารัฐ นายภราดร ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย ที่อภิปรายไม่เห็นด้วยกับการเสนอญัตติดังกล่าว พร้อมระบุว่า อย่าแปลความว่าการไม่เห็นชอบญัตติดังกล่าวคือการขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญหรือออกเสียงประชามติ เพราะขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างดำเนินการ อย่างไรก็ตาม การอภิปรายของ สส.ในญัตติดังกล่าวที่ลงชื่อไว้เบื้องต้นมีกว่า 40 คน.-สำนักข่าวไทย