รัฐสภา 10 ก.ค. – “ดิเรกฤทธิ์” ชี้ กกต.ส่งเรื่องให้ศาล รธน.ตีความคุณสมบัติ “พิธา” ก่อนโหวตนายกฯ ดีกว่าโหวตไปแล้วต้องโมฆะทีหลัง ถ้า กกต.ยังไม่ตัดสินใจ จะขอมติสภาฯ เลื่อนวาระ คาด ส.ว.ส่วนใหญ่งดออกเสียงเป็นแนวทางให้เลื่อนโหวต
นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวถึงกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบสถานภาพนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล ว่า สมาชิกรัฐสภามีหน้าที่เลือกนายกรัฐมนตรีที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ แต่ปัญหาคือกรณีนายพิธา มีคุณสมบัติ ณ วันที่จะเลือกนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ซึ่งองค์กรที่จะวินิจฉัยคือศาลรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมามีผู้ไปยื่นร้องเรียน กกต.จึงทำหน้าที่เป็นผู้กลั่นกรองเบื้องต้น คล้ายกับพนักงานสอบสวนในคดีอาญา ดังนั้น เมื่อ กกต.รับเรื่องไว้แล้ว ต้องตรวจสอบหลักฐานว่าครบถ้วนหรือไม่ และรีบส่งศาลรัฐธรรมนูญ
“ผมมองว่าเป็นเรื่องของการให้ความเป็นธรรม นายพิธาจะถูกหรือผิด จะมีคุณสมบัติครบถ้วน ไม่มีลักษณะต้องห้ามหรือไม่ ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ให้ชัดโดยเร็ว เพราะมิเช่นนั้นเมื่อเปิดประชุมรัฐสภา วันที่ 13 กรกฎาคม คงจะอภิปรายอย่างกว้างขวางและหยิบยกมาตรา 272 ซึ่งมีการพูดถึงคุณสมบัติของผู้ที่ถูกเสนอชื่อไปโยงกับมาตราอื่น ๆ นำไปสู่ข้อสงสัยว่าข้อยุติคืออะไร หากเลือกไปจะขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ เช่นเดียวกับโครงสร้างทางคดีอาญา ตามมาตรา 151 ที่ทราบว่าขาดคุณสมบัติ แต่ยังลงสมัครเลือกตั้ง ทำนองเดียวกันหากสมาชิกรัฐสภารู้อยู่แล้วว่านายพิธาขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามแล้วยังเลือก อาจจะขัดกับรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งมีโทษทางอาญาด้วย เรื่องนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญต่อหลักการพิจารณาในวันที่ 13 ก.ค. สรุปคือเมื่อคุณสมบัติของนายพิธา เป็นหัวใจสำคัญที่สมาชิกรัฐสภาจะต้องพิจารณาประกอบการลงมติให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบ” นายดิเรกฤทธิ์ กล่าว
นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญโดยเร็ว และเมื่อศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องแล้ว จะต้องมีคำสั่งที่เกี่ยวข้องโดยด่วน เช่น หากถูกร้องว่ามีคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งทางเมืองจะต้องมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่อย่างไร เพราะเมื่อดำรงตำแหน่ง ส.ส.ไม่ได้ จะมีผลย้อนหลังไปจนถึงวันเลือกตั้ง ดังนั้น วิธีการของศาลอาจจะต้องให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อน เพราะในทางปฏิบัติ หากนายพิธาชนะก็จะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ แต่ถ้าแพ้ เป็นรัฐมนตรี ตำแหน่ง ส.ส. หรือหากได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี จะเป็นโมฆะทั้งหมด ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย ศาลควรสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อนเหมือนกรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
เมื่อถามย้ำว่า การยื่นวินิจฉัยคุณสมบัตินายพิธา จะส่งผลต่อการพิจารณาของ ส.ว. ที่ตั้งใจจะสนับสนุนนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า ตนเคยประกาศเจตนารมณ์ต่อสาธารณชนไว้ว่าจะประคับประคองระบอบรัฐสภาไว้ คือ ส.ส.เสียงข้างมากมีหน้าที่จัดตั้งรัฐบาล ส.ว.ก็ควรสนับสนุน รวมถึงผู้ที่ถูกเสนอจะต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม แต่เมื่อประมาณ 2 เดือนที่แล้ว มีการร้องกล่าวโทษนายพิธา ตนจึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดและให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหา เพราะถ้านายพิธาไม่มีคุณสมบัติ ตนก็เลือกไม่ได้ และถ้าเลือกไปก็สุ่มเสี่ยงจะเกิดปัญหาทำผิดรัฐธรรมนูญ จึงไม่ต้องพูดถึงเงื่อนไขที่ 3 ว่า นายพิธาจะขับเคลื่อนประเทศให้เกิดความสงบเรียบร้อยได้หรือไม่
“เรื่องการโหวตไม่ใช่ส่งผลแค่การพิจารณาของ ส.ว. แต่ส่งผลต่อการพิจารณาของทั้ง ส.ส. และ ส.ว เพราะมาตรา 272 ห้ามเลือกคนที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม หากไปเลือกเขา ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าขาดคุณสมบัติ จะเป็นการทำผิดรัฐธรรมนูญเสียเอง และต้องรับโทษเรื่องที่เกี่ยวข้อง เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องใหญ่และเป็นไปตามกลไกของกฎหมายที่ต้องเคารพ องค์กรที่เกี่ยวข้องต้องทำให้กระจ่าง ไม่มีเงื่อนตายเงื่อนล็อก เพียงแค่ต้องมีความชัดเจน” นายดิเรกฤทธิ์ กล่าว
ส่วนจำเป็นต้องเลื่อนการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีหรือไม่ นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า วาระการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นเรื่องของรัฐสภา จึงอยู่ที่ 750 คนที่จะมองว่าหากเลือกไปแล้วจะไม่มีปัญหาตามมาก็ดำเนินการได้ แต่หากมีบางคนมองว่าสุ่มเสี่ยงต่อการทำผิด ก็ใช้มติของรัฐสภาเลื่อนวาระออกไปได้ ซึ่งจะต้องรอวันที่ 13 กรกฎาคม และตนอาจจะยกมือขอหารือในที่ประชุมในประเด็นนี้ด้วย แต่หากในวันดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีคำสั่งให้นายพิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ และไม่เลื่อนวาระลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ส.ว.หลายคนอาจใช้วิธีงดออกเสียง เพื่อเป็นทางออกการเลื่อนวาระดังกล่าว และกลับมาโหวตในครั้งต่อไป.-สำนักข่าวไทย