สำนักงานกกต. 15 พ.ค.-ประธาน กกต.เผยคนใช้สิทธิเลือกตั้ง 75.22% สรุปยอดไม่เป็นทางการ “ก้าวไกล –เพื่อไทย” คว้าส.ส.แบ่งเขต 112 ที่นั่งเท่ากัน ส่วนบัญชีรายชื่อมี 17 พรรค “ก้าวไกล” มาแรง 39 ที่นั่ง ยอมรับรายงานผลเลือกตั้งล่าช้า
นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) พร้อมด้วย นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ร่วมแถลงข่าวสรุปภาพรวมการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วประเทศ พร้อมขอบคุณผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ร่วมออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 ว่า การเลือกตั้งวานนี้( 14 พ.ค.) มีผู้มาใช้สิทธิและทั้งหมด 39,293,867 คน จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ 52,238,594 คน คิดเป็นจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์โดยเฉลี่ยทั่วประเทศ 75.22% ถือว่าเป็นจำนวนสูงสุดเป็นประวัติศาสตร์ที่ กกต.เคยจัดการเลือกตั้งมา 7 ครั้ง โดยในปี 2562 มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งโดยเฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ที่ 74.87%
“การที่มีผู้มาใช้สิทธิสูงถือเป็นตัวเลขที่น่ายินดี สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง และทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้มีความหมายมากยิ่งขึ้น ซึ่งข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นในปี 2562 มีหลายประเด็น ได้รับการแก้ไขและไม่เกิดขึ้นอีก ส่วนข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ที่การรายงานผลล่าช้าไปมากจากที่ประเมินไว้ว่าจะจบที่ 22.00-23.00 น. เพราะเจ้าหน้าที่ต้องการให้เกิดความถูกต้อง เพื่อให้ความมั่นใจว่าข้อมูลที่แชร์สู่สาธารณะถูกต้องที่สุด ขอขอบคุณผู้เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งที่ร่วมกันจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย” ประธานกกต. กล่าว
นายอิทธิพร กล่าวว่า สำหรับผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งเป็นข้อมูลเมื่อเวลา 09.00 น. ในส่วนของส.ส.แบบแบ่งเขต พรรคการเมืองที่ได้คะแนนสูงสุด คือพรรคก้าวไกล 112 ที่นั่ง เพื่อไทย 112 คน ภูมิใจไทย 68 คน พลังประชารัฐ 39 คน รวมไทยสร้างชาติ 23 คน ประชาธิปัตย์ 22 คน ชาติไทยพัฒนา 9 คน ประชาชาติ 7 คน ไทยสร้างไทย 5 คน เพื่อไทรวมพลัง 2 คน และชาติพัฒนากล้า 1 คน ส่วนแบบบัญชีรายชื่อ มีพรรคการเมืองที่ได้เก้าอี้ไปทั้งหมด 17 พรรคการเมือง ประกอบด้วย พรรคก้าวไกล 39 คน เพื่อไทย 29 คน รวมไทยสร้างชาติ 13 คน ภูมิใจไทย 3 คน ประชาธิปัตย์ 3 คน ประชาชาติ 2 คน พลังประชารัฐ 1คน เสรีรวมไทย 1 คน ไทยสร้างไทย 1 คน ประชาธิปไตยใหม่ 1 คน พรรคใหม่ 1 คน พรรคชาติพัฒนากล้า 1 คน พรรคท้องที่ไทย 1 คน พรรคเป็นธรรม 1 คน ชาติไทยพัฒนา 1คน พลังสังคมใหม่ 1 คนและครูไทยเพื่อประชาชน 1คน
“สถานการณ์ภาพรวมของเมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา ในมุมมองของกกต.เห็นว่าเป็นไปโดยเรียบร้อย แต่ 1 จังหวัดนครปฐม ที่ต้องปิดประกาศงดการลงคะแนน 1หน่วย คือหน่วยที่ 10 หมู่ที่ 8 ตำบลบางแขม อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ถูกพายุฝนทำให้เต็นท์ล้มเสียหาย ไม่สามารถลงคะแนนเลือกตั้งได้ ส่วนรายงานการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งอื่น ๆ พบการฉีกบัตรเลือกตั้ง 24 ราย จำหน่ายสุราในช่วงที่กฎหมายห้าม 7 ราย ถ่ายรูปบัตรที่เห็นเครื่องหมายลงคะแนน 4 ราย” ประธานกกต. กล่าว
นายอิทธิพร กล่าวว่า ส่วนคำร้องเรียนจนถึงเวลา 09.00 น. วันนี้(15 พ.ค.) ทั้งสิ้น 168 เรื่อง เป็นเรื่องการซื้อสิทธิขายเสียง 59 เรื่อง หลอกลวงใส่ร้าย 58 เรื่องเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยไม่ชอบ 18 เรื่อง และเรื่องอื่น ๆ เช่น ฝ่าฝืนกฎหมายการเลือกตั้งและพรรคการเมืองหลายมาตรา เมื่อเทียบกับปี 2562 คำร้องเรียนมีทั้งหมด 592 เรื่อง ถือว่าเป็นพัฒนาการที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าผู้เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง พยายามปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ฝ่าฝืน จึงหวังว่าตัวเลขการร้องเรียนจะไม่สูงขึ้นกว่าปี 2562 สำหรับผู้ที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง สามารถแจ้งเหตุไม่ใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 21 พ.ค.ที่สถานีอำเภอหรือแจ้งผ่านแอปพลิเคชัน Smart Vote
ประธาน กกต. กล่าวถึงกระบวนการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ว่า ตามกฎหมายกำหนดให้ กกต.ประกาศรับรองผลภายใน 60 วัน ซึ่งภายใน 5 วันนี้จะตรวจสอบความถูกต้อง และจากนั้นจะตรวจสอบว่าผู้ได้รับการเลือกตั้ง มีข้อร้องเรียนว่ามีการกระทำใดที่ทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตเที่ยงธรรมหรือไม่ ซึ่งจะดำเนินการให้เร็วที่สุด แต่ต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหา โดยทั้งหมดต้องอยู่ภายในกรอบ 60 วัน ซึ่งการพิจารณาให้ใบเหลือง ใบแดงนั้น กฎหมายกำหนดว่าก่อนการประกาศผ กกต. มีอำนาจให้เฉพาะใบส้ม หรือระงับสิทธิสมัครชั่วคราวแต่ถ้าหลังการประกาศผลแล้ว การให้ใบแดงคือการเพิกถอนสิทธิ์การเลือกตั้ง ใบดำคือการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ขึ้นอยู่กับว่ากกต.เห็นว่าผู้กระทำผิดนั้นต้องรับโทษอะไร แต่ทั้งหมดจะต้องเสนอให้ศาลฎีกาพิจารณา
เมื่อถามถึงผลการประชุมกรณีที่คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) ดึงบัตรเลือกตั้งขาดให้ผู้มาใช้สิทธินำไปลงคะแนนเลือกตั้งที่เขตห้วยขวาง นายอิทธิพร กล่าวว่า ตามกฎหมายกำหนดให้เหตุที่เกิดในหน่วยเลือกตั้งเป็นอำนาจกรรมการประจำหน่วยวินิจฉัย ซึ่งที่ประชุมกกต.เมื่อวาน(14 พ.ค.) ทราบข้อมูลว่าหลังเกิดเหตุกรรมการประจำหน่วยประชุมกันแล้วเห็นว่าไม่ได้เกิดจากการเจตนาจงใจ จึงมีมติให้เป็นบัตรที่สามารถใช้ลงคะแนนได้ จึงจ่ายให้ผู้มาใช้สิทธิได้นำไปลงคะแนน แต่ผู้ใช้สิทธิกังวลว่า จะกลายเป็นบัตรเสียหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมกกต.เห็นว่าเมื่อกปน.ปฏิบัติหน้าที่ได้ถูกต้องและอำนาจวินิจฉัยเป็นของกรรมการประจำหน่วย ถือว่ากปน.ปฏิบัติหน้าที่ได้ถูกต้องแล้ว.-สำนักข่าวไทย