ปภ.15 ก.พ. -ปภ.ประชุมติดตามสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน- ฝุ่น PM 2.5พร้อมบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เป็นประธานการประชุมกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) เพื่อติดตามสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) พร้อมบูรณาการสนับสนุนการปฏิบัติในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ทั้งภาคพื้นดิน/ทางอากาศ รวมถึงการติดตามสภาพอากาศที่อาจส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ตลอดจนการวิเคราะห์การเกิดจุดความร้อน (Hotspot) ในพื้นที่ เพื่อนำมา วางแผนการบริหารจัดการเชิงพื้นที่และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมี นายรัฐพล นราดิศร รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 12 หน่วยงาน และผู้บริหารกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมถึงกองทัพภาคที่ 3 ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ศูนย์ป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยเขตทุกเขต ร่วมประชุมฯ ผ่านระบบคอนเฟอร์เร้นซ์
อธิบดีปภ.กล่าวว่า ช่วงฤดูหนาวต่อเนื่องฤดูร้อน หลายพื้นที่ของประเทศประสบปัญหาไฟป่า หมอกควัน และสถานการณ์ฝุ่นละอองเกินเกณฑ์มาตรฐานหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ตอนบนของประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ปภ. ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ติดตามสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) โดยข้อมูลจาก GISTDA พบว่า ณ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 มีจุดความร้อนสะสมในพื้นที่หลายจังหวัด เนื่องจากมีการจุดไฟเพื่อชิงเผาก่อนช่วงห้ามเผา (15 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป) โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือตอนล่าง อาทิ ตาก ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ จึงทำให้ช่วงนี้มีจุดความร้อนเกิดขึ้นกระจายทั่วไปตามพื้นที่ต่าง ๆ จำนวนกว่า 2,166 จุด โดยเฉพาะพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ส่งผลให้มีปริมาณควันสะสมในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน เมื่อเปรียบเทียบสถานการณ์จุดความร้อนกับปีที่แล้ว พบว่า ในภาพรวมปี 2565 มีจุดความร้อนประมาณ 23,900 จุด (ตั้งแต่ 1 มกราคม – 1 พฤษภาคม 2565) ส่วนในปี 2566 (ตั้งแต่ 1 มกราคม – ปัจจุบัน) มีจุดความร้อน 15,400 จุด คิดเป็น 64% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ในส่วนของสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะพื้นที่ภาคเหนือสถานการณ์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น การประชุมวันนี้จึงเป็นการติดตามสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน พร้อมคาดการณ์สภาพอากาศในระยะต่อไปที่อาจส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) รวมถึงวิเคราะห์การเกิดจุดความร้อน (Hotspot) ในพื้นที่ เพื่อนำมาวางแผนการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ ควบคู่กับมาตรการ/แนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ปี 2566 ตลอดจนบูรณาการการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนการปฏิบัติในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือตามข้อสั่งการของกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) การประสานการปฏิบัติในด้านการป้องกันและลดมลพิษจากแหล่งกำเนิด โดยเฉพาะแหล่งกำเนิดที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น อาทิ มลพิษจากการเผาในพื้นที่ป่าและพื้นที่การเกษตร มลพิษจากการคมนาคมขนส่ง รวมถึงการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะการดำเนินคดีกับผู้ลักลอบเผา การตรวจจับยานพาหนะที่ปล่อยควันดำ และแนวทางการดำเนินการเพื่อลดผลกระทบจากปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองที่มีผลต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่เสี่ยงไฟป่า หมอกควัน และและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5)
นายบุญธรรม กล่าวอีกว่า การควบคุมไฟป่าและลดผลกระทบจากปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ร่วมกับกองทัพบก (ทบ.) สนับสนุนเฮลิคอปเตอร์บรรเทาสาธารณภัย KA-32 จำนวน 2 ลำ พร้อมด้วยกำลังพลเข้าประจำการ ณ ที่ตั้งส่วนหน้า ค่ายทหารเสือพระองค์ดำ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 โดยได้ปฏิบัติการร่วมกับกองบัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ และกองทัพภาคที่ 3 ส่วนหน้า มีฐานปฏิบัติการ 2 จุด ได้แก่ ฐานปฏิบัติการที่ 1 พล.ร.7 ค่ายทหารเสือพระองค์ดำ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ โดยประจำการ ทั้ง 2 ลำ ในห้วงวันที่ 7 – 22 กุมภาพันธ์ 2566 และฐานปฏิบัติการที่ 2 เฮลิคอปเตอร์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย KA-32 จำนวน 1 ลำ จากเชียงใหม่จะบินไปประจำการ ณ ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพภาคที่ 3 ค่ายสมเด็จพระเอกาทศรถ อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก ตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป และจะสนับสนุนการควบคุมไฟป่าและลดผลกระทบจากปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนืออย่างต่อเนื่องจนสิ้นสุดฤดูกาล ซึ่งข้อมูลจากศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละออง ภาค 3 รายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 7 – 14 กุมภาพันธ์ 2566 KA–32 ได้ออกปฏิบัติการทิ้งน้ำดับไฟป่าในพื้นที่อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ รวม 52 เที่ยว ปริมาณน้ำ 180,000 ลิตร ส่วนการสนับสนุนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่าภาคพื้นดิน ปภ. ได้เตรียมพร้อมเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย พร้อมเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการแก้ไขไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) จากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อปฏิบัติการสนับสนุนพื้นที่เสี่ยงเกิดไฟป่า ผ่านกลไกของกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทุกระดับ ภายใต้แนวทางการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่เป็นไปด้วยความรวดเร็ว
“สถานการณ์ในปีนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงาน จังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศเพิ่มความเข้มข้นในการปฏิบัติตามมาตรการที่ระบุไว้ในแผนทั้งการปฏิบัติงานของหน่วยหลักและหน่วยสนับสนุน ในส่วนของพื้นที่ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้อำนวยการจังหวัด กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับจังหวัดบูรณาการการทำงานในทุกมิติครอบคลุมทั้งการเฝ้าระวังสถานการณ์ การตอบโต้ และการเผชิญเหตุเมื่อเกิดสถานการณ์ โดยเฉพาะในส่วนของศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละออง ภาค 3 ได้มีการบูรณาการการทำงานกันอย่างเต็มกำลัง ในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ขอให้เข้มข้นในการปฏิบัติตามประกาศเขตห้ามเผาเพื่อควบคุมการเผาในที่โล่ง รวมถึงการลดมลพิษจากแหล่งกำเนิด และขอให้ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือให้ประชาชนร่วมเป็นหูเป็นตาแจ้งข้อมูลในกรณีเกิดการเผา โดยใช้กลไกของปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมถึงช่องทางที่แต่ละจังหวัดกำหนด ซึ่งในส่วนของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้มีช่องทาง Official LINE @1784DDPM ให้ประชาชนที่พบเห็นสถานการณ์ไฟป่าหรือได้รับผลกระทบจากปัญหาไฟป่าหมอกควัน สามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือได้ทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM หรือสามารถแจ้งเหตุได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานการแก้ไขปัญหาและให้ความช่วยเหลือต่อไป” นายบุญธรรม กล่าว .-สำนักข่าวไทย